xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์อ่างทองเตือนคนรักสัตว์ระวังสุนัขเป็น “โรคลมแดด” หลังอากาศร้อนจัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - สัตวแพทย์สาวเมืองอ่างทองเตือนคนรักสัตว์ ช่วงนี้อาการร้อนจัดให้ระวังสัตว์รักล้มป่วย โดยเฉพาะสุนัขที่มักป่วยด้วยโรคลมแดด เจ้าของควรเฝ้าสังเกต และดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะวิธีรักษา

วันนี้ (28 เม.ย.) สัตวแพทย์หญิงภัทราพร ปวงฟู สัตวแพทย์ประจำคลินิกแห่งหนึ่งใน จ.อ่างทอง กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงนี้ทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว ล้มป่วยจากโรคลมแดด หรือ heat stroke แต่ที่พบส่วนมากจะเกิดในสุนัขมากกว่าแมว โดยจะมีอาการอุณหภูมิในร่างกายสูง 104.9F ขึ้นไป หอบหายใจแรง สีเหงือกแดงคล้ำ น้ำลายเหนียว สุนัขจะอยู่ในอาการมึนงง บางตัวถึงกับชัก ไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ เพราะโรคนี้ถ้าเป็นจะทำลายระบบประสาท และโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าสุนัขจะมีร่างกายแข็งแรงก็ตาม

สุนัขที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงคือ สุนัขที่อ้วน และพันธุ์หน้าสั้น ไม่ควรนำสุนัขทิ้งไว้ในรถถึงแม้ว่าจะเปิดกระจกไว้ สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้พยายามลดอุณหภูมิในตัวสุนัข โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว โดยเน้นบริเวณฝ่าเท้า และศีรษะ และให้กินน้ำเย็น แต่ห้ามบังคับให้กิน และรีบพาพบสัตวแพทย์ทันที เพราะโรคนี้อันตรายถึงชีวิตได้”

สัตวแพทย์หญิงภัทราพร ปวงฟู กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ มีสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัข และแมว โดยเฉพาะสุนัข ป่วยและล้มตายจากโรคลมแดด ถ้าเทียบกับโรคอื่นมากเกือบ 80% โดยส่วนมากจะตาย ไม่สามารถช่วยได้ทัน เป็นผลมาจากอากาศช่วงนี้ร้อนจัด จึงอยากเตือนให้เฝ้าระวังสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง ถ้ามีอาการตามที่กล่าวมา ต้องรีบนำมาพบแพทย์ และรักษาอย่างทันท่วงที พร้อมกับหลีกเลี่ยงสภาวะเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค

สำหรับ “โรคลมแดด” เป็นโรคที่มักพบในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน สัตว์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่าปกติ เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในรถที่ปิดกระจกสนิท สัตว์เลี้ยงจะมีไข้สูงมาก ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิร่างกายไม่ควรเกิน 100.5-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ถ้าสัตว์มีอุณหภูมิสูงถึง 105 องศาฟาเรนไฮต์ ควรรีบพาไปหาแพทย์ เพราะถ้าอุณภูมิร่างกายสูงเกินไปสุนัขอาจจะช็อกได้

อาการของโรค - สุนัขจะมีไข้ขึ้นสูง หายใจหอบ หายใจลำบาก น้ำลายไหลยืด มีภาวะขาดน้ำ อาเจียน เหงือกสีแดงเข้ม เส้นเลือดฝอยภายในร่างกายแตก ซึ่งอาจจะไม่สามารถสังเกต หรือเห็นได้ ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจทำให้อุจจาระเป็นเลือด เกิดภาวะช็อก ชัก หรือหมดสติ และอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ และส่วนใหญ่จะตายด้วยภาวะจากโรคแทรกซ้อน

วิธีรักษา - การลดอุณหภูมิร่างกายสัตว์ให้เร็วที่สุด ถ้าอยู่ที่บ้านควรรีบอาบน้ำให้โดยใช้น้ำเย็น เช็ดตัวลดไข้ ให้สัตว์กินน้ำเย็น ใช้น้ำเย็นผสมแอลกอฮอล์เช็ดตามบริเวณง่ามนิ้วเพื่อให้ระบายความร้อนออกมาให้เร็วที่สุด ควรวัดอุณหภูมิทางทวารหนักเพื่อเช็กอุณหภูมิร่างกายของสุนัขทุกๆ 5 นาที และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ หรือคลินิกสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด ถึงแม้ว่าเมื่อเราเช็ดตัวแล้วสัตว์กลับมามีอุณหภูมิร่างกายปกติแล้วก็ตาม ต้องพาไปพบสัตวแพทย์ เนื่องจากการที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติมากๆ มักเป็นอันตรายต่ออวัยวะระบบต่างๆ ของร่างกายด้วย เช่น มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย โดยอาจมีผลรบกวนการทำหน้าที่ของไต หัวใจ ระบบประสาท เป็นต้น ดังนั้น เมื่อสุนัขเกิดภาวะ heatstroke ควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น