กาฬสินธุ์ - เขื่อนลำปาวส่อวิกฤตแล้ง หลังปริมาณน้ำเหลือเพียง 23% ด้านเกษตรกรหันมาปลูกอินทผลัม พืชทนแล้งใช้น้ำน้อย ผลผลิตราคาสูง หวังผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่สู้ภัยแล้ง
วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งใน จ.กาฬสินธุ์ ว่าปัจจุบันหลายพื้นที่ยังคงประสบภัยแล้งอย่างหนักเนื่องจากแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำลดลงและเริ่มแห้งขอดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ถือเป็นหัวใจหลักของจังหวัด เหลือปริมาณน้ำอยู่เพียง 458 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุ 1,980 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 23% ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเพียงต่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่เหมาะทำเกษตรหน้าแล้ง ทำให้เกษตรกรหลายพื้นที่หันมาเพาะปลูกพืชที่สามารถทนต่อสภาพอากาศแล้งและใช้น้ำน้อยแทน
ล่าสุด นายนิรุจน์ อุทธา ประธานชมรมเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมแห่งประเทศไทย และนายไกรเทพ ดวงจันทร์ ประธานชมรมศูนย์ส่งเสริมการปลูกอินทผลัมไทย พร้อมด้วยเกษตรกรชาวต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ ร่วมกันเปิดป้ายสวนไดโนผาลัม ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกและผลิตอินทผลัม พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ใช้น้ำน้อยและทนแล้งแบบครบวงจรแห่งแรกในภาคอีสาน บนเนื้อที่ 50 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บ้านดอนดู่ ต.ภูสิงห์
นายนิรุจน์กล่าวว่า ปัจจุบันหลายจังหวัดในภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ เกิดภาวะแล้งซ้ำซากทุกปี ส่งผลให้พืชผลผลิตเสียหาย คุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ ขาดแคลนน้ำเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค สวนไดโนผาลัมจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การปลูกอิทผลัม พืชทะเลทรายของภาคอีสานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากอินทผลัมถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อยเพาะปลูก แต่ให้ผลผลิตสูงและเก็บเกี่ยวได้ในระยะยาว
ผลของอินทผลัมเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก มีราคาดี มีการประกันราคาอย่างเป็นธรรม ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรูป และการตลาดอย่างครบวงจร ซึ่งสามารถพิชิตความยากจนให้แก่เกษตรกร สามารถต่อสู้กับวิกฤตภัยแล้งได้เป็นอย่างดีในอนาคต ต่อไปจะมีการส่งเสริมโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน เปลี่ยนอีสานเป็นทองคำ ปลูกอินทผลัมพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคตต่อไป
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งปัจจุบันครอบคลุม 18 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 166,276 ครัวเรือน 1,260 หมู่บ้าน 116 ตำบล รวม 474,806 คน โดยจังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วทั้ง 18 อำเภอ