xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาทุ่นเขตว่ายน้ำพัทยาไม่จบ ชาวบ้านถามทำโครงการ 88 ล.เหตุใดไม่ถาม ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาทุ่นเขตว่ายน้ำชายหาดพัทยาไม่จบ สื่อ-ชาวบ้าน จี้ถามผู้บริหารดำเนินโครงการภายใต้งบ 88 ล้าน เหตุใดไม่สอบถามความเห็นคนท้องถิ่น พร้อมจี้ทุนที่ใช้ผิดประเภท ทั้งมีราคาสูง และซ้ำซ้อนโครงการท้องถิ่น

วันนี้ (29 มี.ค.) นางยุวธิดา จีรภัทร โฆษกเมืองพัทยา พร้อมทีมงานได้เชิญนายอนุชา หลวงเมือง รักษาการหัวหน้าฝ่ายป้องกันทางทะเลเมืองพัทยา เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการจัดวางทุ่นเขตว่ายน้ำเมืองพัทยา ชายหาดจอมเทียน และวงศ์อมาตย์ ที่ดำเนินการไปแล้ว 10 จุด ภายใต้งบประมาณ 88 ล้านบาท หลังถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดวางทุ่นในเขตว่ายน้ำว่า เป็นการใช้ทุ่นผิดประเภท ทั้งยังมีราคาสูง และเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการของหน่วยงานท้องถิ่น

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของฝ่ายบริหารที่ต้องการจัดระเบียบโซนนิ่งทางทะเลของเมืองพัทยาให้มีความชัดเจน สวยงาม และปลอดภัย จึงเสนอโครงการตรงต่อรัฐบาล ในการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 88 ล้านบาท ดำเนินการ และว่าจ้างเอกชนให้นำทุ่นลอยอเนกประสงค์แบบ HDPE (High Density Polythylene) ยี่ห้อ Next ขนาด 0.50x0.50x0.40 ม.จำนวน 4,117 ตารางเมตร มาจัดวางตามแนวชายหาด จำนวน 10 จุด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อให้เกิดความสวยงาม เป็นระเบียบ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ส่วนข้อซักถามเรื่องการนำทุ่นลักษณะดังกล่าวเป็นอีกโครงการหนึ่งที่อยู่ในแผนของเมืองพัทยา และฝ่ายบริหารได้นำเสนอผ่านสภาเมืองพัทยาเพื่อพิจารณาไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่กลับปรากฏว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องถูกถอดถอนญัตติออกไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้นำเสนอโครงการเปลี่ยนรูปแบบของทุ่น และราคาใหม่ เนื่องจากทุ่นที่นำมาเสนอมีลักษณะเดียวกันกับทุ่นที่ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางมาจัดทำแนวเขตในปัจจุบัน และมีการอภิปรายกันอย่างดุเดือดในสภาเมืองพัทยาว่า ทุ่นลักษณะที่ใช้เป็นทุ่นที่มีไว้สำหรับการเทียบเรือท่องเที่ยว หรือโป๊ะลอยน้ำที่จัดตั้งบริเวณริมท่าเรือที่ต่อเชื่อมกันเป็นแพขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสมที่จะนำมาผูกเชื่อมเพื่อทำเป็นเขตว่ายน้ำแต่อย่างใดนั้น

ทีมโฆษกชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวจัดทำเพื่อประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพื่อเฝ้าระวังเหตุอย่างใกล้ชิดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คำชี้แจงดังกล่าวของทีมโฆษกยิ่งทำให้เกิดข้อซักถามถึงความเหมาะสมของโครงการ ทั้งยังฝากประเด็นไปยังฝ่ายบริหารถึงการจัดทำโครงการเสนอของบประมาณโดยตรงจากส่วนกลางว่า ได้มีการสอบถามความเหมาะสมของคนในพื้นที่ก่อนหรือไม่ เนื่องจากโครงการลักษณะเดียวกันก็มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลง และแก้ไข อีกทั้งโครงการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค หรือท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่มีการสอบถามความคิดเห็น และประชาพิจารณ์จากคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อนทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น