xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะ 4 แนวทางการปฏิรูประบบการจัดการขยะชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แนะ 4 แนวทางการปฏิรูประบบการจัดการขยะชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะ

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาฯ และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า การเกิดไฟไหม้บ่อขยะ หรือกองขยะที่เทกองไว้เป็นจำนวนมากคงจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปอีก จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะในซอยแพรกษา 8 จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ไฟไหม้กองขยะที่ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เนื้อที่ 5-6 ไร่ ไฟไหม้กองขยะที่ตำบลคลองปาง อำเภอรัฎษา จังหวัดตรัง เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ไฟไหม้บ่อขยะของเทศบาลบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เนื้อที่ 32 ไร่ ไฟไหม้บ่อขยะของเทศบาลนครสุราษฎร์ฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สาเหตุหลักคือ เมื่อนำขยะมูลฝอยมาเทกองทับถมกันจะเกิดการหมักหมม เมื่อระยะเวลานานเข้าจะเกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ภายในกองขยะโดยไม่ใช้ออกซิเจนของจุลินทรีย์ ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ติดไฟ และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่าส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วในช่วงอากาศร้อน หรือมีเชื้อไฟจะทำให้ก๊าซมีเทนภายในกองขยะติดไฟ และเกิดไฟไหม้กองขยะได้ หากกระแสลมพัดเข้าสู่ชุมชนจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งไอระเหยสารอินทรีย์ และสารพิษต่างๆ ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ สูดเข้าไปนานๆ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งที่ปอด

นายสนธิ กล่าวอีกว่า จากการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมักใช้วิธีการกำจัดมูลฝอยโดยการเทกอง หรือที่เรียกว่า Open Dumping ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกสุขลักษณะและก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากศ กลิ่นเหม็น โรคจากแมลง และสัตว์แทะ น้ำเสียจากกองขยะ (Leachate) ไหลลงสู่แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดิน เนื่องจากเป็นวิธีการกำจัดมูลฝอยที่ราคาถูกที่สุด และไม่ผิดกฎหมายหากดำเนินการในพื้นที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเอง และไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อประชาชน หากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาลตำบล หรือเทศบาลเมืองไปลงทุนทำระบบกำจัดขยะครบวงจร หรือทำระบบฝังกลบขยะแบบถูกสุขาภิบาล หรือเตาเผาโดยลำพังคงเป็นเรื่องยาก

เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมาก ดังนั้น หากรัฐบาลจากส่วนกลางไม่สนับสนุนงบประมาณ หรือไม่มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะที่ท้องถิ่นสามารถใช้ร่วมกันในการกำจัดมูลฝอยที่ถูกหลักสุขาภิบาลแล้ว ในอนาคตคงจะเห็นกองขยะมีขนาดเท่าภูเขาอยู่ในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ขอเสนอว่าการปฏิรูประบบการจัดการมูลฝอยชุมชนควรดำเนินการในหลายๆ ด้าน ดังนี้

1.ด้านกฎหมายการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เป็นหมวดหนึ่งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งตามมาตรา 20 กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดท้องถิ่นได้ โดยมาตรา 20 ข้อ 5 “ท้องถิ่นสามารถกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลอื่นที่ราชการส่วนท้องถิ่นมอบให้ดำเนินการแทนในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฎิกูลหรือมูลฝอยไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยราชการส่วนท้องถิ่นนั้นต้องดำเนินการให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะตามที่ได้กำหนดในกฎกระทรวง” ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเรื่องค่าธรรมเนียมการกำจัดมูลฝอย และวิธีการกำจัดมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ

ดังนั้น ราชการส่วนท้องถิ่นจึงยังไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดมูลฝอยจากประชาชนได้ เมื่อไม่มีรายได้จึงทำการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการที่ราคาถูกที่สุดคือ การขุดบ่อ และนำมูลฝอยเทลงไป หรือการหาสถานที่ของท้องถิ่นเองที่ห่างไกลชุมชน และนำมูลฝอยที่เก็บจากบ้านเรือนมาเทกองเป็นภูเขา การที่ท้องถิ่นดำเนินการดังกล่าวถ้าไม่เกิดเหตุรำคาญต่อประชาชนก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎกระทรวงเรื่องวิธีการกำจัดมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะยังไม่ออก เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในขณะนี้คือ จะต้องเร่งประกาศกฎกระทรวงให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการกำจัดมูลฝอยแบบเทกองอีกต่อไป

สำหรับบ่อขยะเดิมภาครัฐต้องเร่งดำเนินการหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยอีกต่อไป เช่น น้ำชะจากกองขยะเมื่อฝนตกต้องป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ การป้องกันการเกิดไฟไม้กองขยะในช่วงฤดูร้อน การปลูกต้นไม้เป็น Buffer Zone กับชุมชน นอกจากนี้ บ่อขยะที่อยู่ใกล้ชุมชนควรดัดแปลงเป็นสนามกีฬา หรือสวนสาธารณะต่อไป

2.ด้านการบริหารจัดการ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์กำจัดมูลฝอยเพื่อให้ท้องถิ่นใช้ร่วมกันในหลายพื้นที่ เช่น ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดหาสถานที่กำจัดมูลฝอยของจังหวัดส่วนกลางขึ้นมา โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดต้องเก็บ ขน มูลฝอยนำมากำจัดในสถานที่นั้น ในการดำเนินการดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจของบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์กำจัดมูลฝอย ผ่านทางการจัดทำแผนปฎิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป ทั้งหมดเป็นไปตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

3.ด้านการลงทุนภาครัฐต้องสนับสนุน และส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจการจัดการมูลฝอยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเก็บ การขนส่ง การคัดแยก การหาสถานที่ และวิธีการจัดการ หรือกำจัด เช่น การคัดแยกมูลฝอยเพื่อนำวัสดุบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การเผาในเตาเผา การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยเอกชนสามารถหารายได้จากการนำมูลฝอยกลับมาใช้ ตลอดจนแปรรูปขยะกลับมาใช้ให้มากที่สุด ทั้งนี้ รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในดำเนินการดังกล่าวด้วย

4.ด้านจิตสำนึกต้องปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องแก่เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ โดยให้การศึกษาและรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือปฏิบัติในการแยกขยะที่แหล่งกำเนิด การใช้ซ้ำ การแปรรูปขยะกลับมาใช้ใหม่ ท้องถิ่นควรหามาตรการจูงใจให้มีการแยกขยะกันทุกครัวเรือน เช่น ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพิษ ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก หรือโฟมในท้องถิ่นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น