xs
xsm
sm
md
lg

สลด! ดับคาก้นบ่อ-หลุม-ท่อ กว่าครึ่งคือคนช่วยเหลือ “ก๊าซไข่เน่า” สุดอันตราย แนะตรวจก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สลด! 10 ปี มีคนตายจากทำงานในที่อับอากาศถึง 28 ราย กว่าครึ่งไปคนที่ลงไปช่วย เตือนก่อนลงไปทำงานตามบ่อน้ำ ท่อ หลุมลึก ต้องตรวจสอบออกซิเจน และก๊าซพิษก่อน โดยเฉพาะก๊าซไข่เน่าความเข้มข้นสูง ทำให้หมดสติ ตายได้ ระบุไม่มีเครื่องมือให้สังเกตสีของน้ำจะดำ ใช้ไม้กวนน้ำกลิ่นเน่าจะโชย ย้ำต้องผูกเชือกก่อนลงไปทำงาน มีคนเฝ้าปากทางและคุมงานอย่างละคน

วันนี้ (27 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีคนงานบริษัทรับจ้างเหมาจากเทศบาลนครภูเก็ตในการดูแลระบบท่อบำบัดน้ำเสีย ลงไปทำงานในบ่อพักน้ำเสียที่ จ.ภูเก็ต หมดสติ และเสียชีวิต จำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ว่า อันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ (Confined space) เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ เตา เกิดขึ้นเป็นระยะๆ และมักเสียชีวิตหมู่ เนื่องจากลงไปช่วยคนที่หมดสติที่ก้นบ่อ โดยขาดความรู้และขาดอุปกรณ์ป้องกันตัว สำนักระบาดวิทยารายงานในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2556 มีเหตุการณ์ทั้งหมด 9 ครั้ง ผู้ประสบเหตุ 32 ราย เสียชีวิต 28 ราย คิดเป็นอัตราตายสูงถึงร้อยละ 88 ผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ที่ลงไปช่วยเหลือ สธ.ได้มอบให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) เร่งให้ความรู้และเผยแพร่มาตรการความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่สถานประกอบการและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ประชาชนมักจะขุดบ่อลึกเพื่อหาน้ำใต้ดินและเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตในที่อับอากาศที่พบในประเทศส่วนใหญ่มาจาก 1.ขาดอากาศหายใจ พบร้อยละ 60 ซึ่งบริเวณบ่อ หลุมที่มีความลึก หรือท่อ มักจะมีออกซิเจนน้อย หากต่ำกว่าร้อยละ 20 จะเป็นอันตราย และ 2.สูดก๊าซพิษที่พบบ่อย 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่าก๊าซอื่น จะลอยอยู่ที่ก้นบ่อ โดยเฉพาะก๊าซไข่เน่าที่มีความเข้มข้นสูงถึง 100 ppm เมื่อสูดเข้าไปจะทำให้หยุดหายใจ เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว หากมีความเข้มข้นสูงกว่า 66 ppm ขึ้นไปให้ออกจากพื้นที่นั้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันอันตรายขณะทำงานในที่อับอากาศ ก่อนจะลงไปทำงานต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณออกซิเจน สารเคมีอันตราย หรือก๊าซพิษก่อน จัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะถังบรรจุออกซิเจนและหน้ากาก ต้องมีผู้ช่วยเหลืออยู่ที่ปากบ่อ หรือปากทาง อย่างน้อย 1 คน และผู้ควบคุมการทำงาน 1 คน ทั้งหมดจะต้องผ่านการฝึกอบรม ทั้งการกู้ภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นอย่างดี และควรผูกเชือกที่เอวของผู้ปฏิบัติงานไว้ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ปากบ่อรู้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเห็นว่ามีอาการหรือท่าทางผิดปกติ ต้องรีบนำตัวออกมาทันที

กรณีประชาชนที่ไม่มีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณก๊าซ ให้ใช้วิธีการสังเกต หากเป็นบ่อน้ำให้ดูสีและกลิ่น หากมีสีดำเข้ม ให้ใช้ไม้กวนน้ำเพื่อให้ก๊าซไข่เน่าฟุ้งกระจายออกมา หากมีกลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนไข่เน่า ให้สันนิษฐานว่ามีก๊าซไข่เน่าอยู่ ห้ามลงไปเด็ดขาด หากเป็นบ่อน้ำร้างมีเศษขยะ และซากพืช ซากสัตว์จนน้ำมีสีดำเข้มก็ไม่ควรลงไป ที่สำคัญห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่อับอากาศ โดยเฉพาะบริเวณบ่อน้ำ ท่อน้ำที่เน่าเสียมาก เนื่องจากอาจมีก๊าซมีเทน หรือก๊าซไวไฟอื่นๆ ทำให้เกิดการระเบิดได้” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ ให้ใช้การดึงเชือกขึ้นมาแทนการลงไป หากลงไปช่วยจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างดี เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันก๊าซพิษ หลังจากนั้นให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้นอนราบในที่อากาศถ่ายเทดี หากพบว่าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้ผายปอดและนวดหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น