xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็กปากแหว่งเพดานโหว่อีสานใต้พุ่ง ผู้ป่วยใหม่เพิ่มปีละ 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - พบผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ 4 จว.อีสานใต้พุ่ง เผยรักษาที่ศูนย์ปากแหว่งฯ รพ.มหาราชโคราช กว่า 500 ราย ผู้ป่วยใหม่เพิ่มปีละกว่า 100 ราย พร้อมจัดทีมแพทย์สหวิชาชีพช่วยรักษา ระบุต้องรับการรักษาต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนโตเป็นผู้ใหญ่ ล่าสุดจับมือ สปสช.และสภากาชาดไทย จัดโครงการ “ ยิ้มสวย เสียงใส ใจสัมพันธ์” ช่วยผู้ป่วย

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พญ.เพิ่มศิริ เลอมานุวรรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส ใจสัมพันธ์” ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภากาชาดไทยและสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยจัดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ที่ได้รับการรักษาจากศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเรียนรู้แนวทางการดูแลรักษาจากทีมสหวิชาชีพ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ผู้ปกครอง ผู้ให้การรักษาได้พบปะสร้างสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาและการดำเนินชีวิตที่แต่ละช่วงอายุได้รับการรักษาจะมีความแตกต่างกัน อีกทั้งเป็นการสร้างกำลังใจในการรักษาต่อไป

นพ.พินัย นิรันดร์รุ่งเรือง หัวหน้าศูนย์ปากแหว่ง เพดานโหว่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า ศูนย์ปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ได้จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตั้งแต่ ปี 2553 นับเป็นศูนย์ปากแหว่ง เพดานโหว่แห่งแรกในสังกัดโรงพยาบาลภูมิภาค ที่ให้การรักษาผู้ป่วย ปากแหว่ง เพดานโหว่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ในพื้นที่นครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา,ชัยภูมิ,บุรีรัมย์และ สุรินทร์) โดยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แพทย์โสต ศอ นาสิก นักอรรถบำบัด นักสังคมสงเคราะห์และพยาบาล

โดยมีข้อมูลในการรักษาพบอุบัติการณ์การเกิดภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 1.4 คนต่อเด็กคลอด 1,000 คน และ มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 รายทุกปี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากหลายปัจจัยไม่สามารถระบุได้ชัดเจน และมักเกิดกับครอบครัวที่มีฐานะยากจนซึ่งมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษา

สำหรับปัญหาหลักๆที่พบในผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ได้แก่ ความผิดปกติของริมฝีปากบน จมูก สันเหงือก ตลอดจนโครงสร้างกระดูก ขากรรไกรบน ความผิดปกติทาง การพูด ความผิดปกติด้านหูในการได้ยินและปัญหาด้านจิตใจ จึงสมควรจะได้รับการรักษาให้มีคุณภาพ เพื่อดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่

ล่าสุดจนถึงขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนแล้ว 548 คน ในปี 2556 มีผู้ป่วยใหม่ 86 คน ให้การรักษาศัลยกรรมตกแต่ง 101 ราย ทันตกรรมจัดฟัน 996 ราย รักษาด้วยโคราชแนม 1,600 ราย ฝึกพูด 668 ราย โดยศูนย์ปากแหว่ง เพดานโหว่ฯ ได้จัดทำแนวทางการรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ในเขตนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา,ชัยภูมิ,บุรีรัมย์และ สุรินทร์) ทุกช่วงอายุในการรักษาของสหวิชาชีพแต่ละสาขา เพื่อให้การรักษามีคุณภาพ

นพ.พินัย นิรันดร์รุ่งเรือง
กำลังโหลดความคิดเห็น