xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่พุ่ง-ค่าใช้จ่ายสูง รพ.มหาราชนครราชสีมาร่วมเอกชนช่วยรักษาฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รพ.มหาราชนครราชสีมาจับมือภาคเอกชนจัดโครงการ “ทำดีด้วยใจเพื่อความสุขและรอยยิ้มของเด็กไทย” ตั้งเป้าตรวจรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ ฟรี 120 ราย เผยพบเด็กป่วยเพิ่มทุกปี ล่าสุดมีผู้ป่วยลงทะเบียนแล้วกว่า 560 ราย ต้องรักษาด้วยทีมสหวิชาชีพและมีค่าใช้จ่ายสูง

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.สมศักดิ์ คงไพจิตรวงศ์ หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.พินัย นิรันดร์รุ่งเรือง หัวหน้าศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นางณัฐวรรณ ศศิพิบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจกรรมสังคม บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และ นายแอนเดอร์ เบรกเก้ ประธานกรรมการโครงการ Kids Action for Kids และ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทยคิดส์ แอคชั่น ฟร์คิดส์ ร่วมกันแถลงเปิดตัวโครงการ “ทำดีด้วยใจ เพื่อความสุขและรอยยิ้มของเด็กไทย ครั้งที่ 10”

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ พิการทางศีรษะและใบหน้าได้เข้ารับการรักษาให้กลับมามีรอยยิ้มที่สดใสอีกครั้ง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้รับโอกาสในการรักษาภาวะความพิการและเพื่อให้ได้รับการรักษาฟื้นฟูสภาพและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุขเหมือนคนปกติโดยทั่วไป โดยความช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณจากเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายรักษาผู้ป่วยใน จ.นครราชสีมา ฟรีจำนวน 120 ราย

นพ.พินัยเปิดเผยว่า ศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นับเป็นแห่งแรกในสังกัดโรงพยาบาลภูมิภาคที่ให้การรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แพทย์โสต ศอ นาสิก นักอรรถบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และพยาบาล

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบอุบัติการณ์การเกิดภาวะปากแหว่งและเพดานโหว่ในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 1.4 คนต่อเด็กคลอด 1,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนแล้ว 565 คน ในปี 2556 มีผู้ป่วยใหม่ 86 คน ให้การรักษาศัลยกรรมตกแต่ง 101 ราย ทันตกรรมจัดฟัน 996 ราย รักษาด้วยโคราชแนม 1,600 ราย การฝึกพูด 668 ราย

“การรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่นั้นต้องใช้เวลาในการรักษานานต่อเนื่องและเรื้อรัง ฉะนั้นจึงต้องใช้ทีมสหวิชาชีพ ทั้งทรัพยากร บุคลากร และเครื่องมือต่างๆ ซึ่งใช้งบลงทุนที่สูง ฉะนั้นการช่วยเหลือสนับสนุนจากภาคเอกชนจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการรักษา เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยกลุ่มนี้” นพ.พินัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น