xs
xsm
sm
md
lg

ม.อ.เปิดมิติใหม่ป้องกันฝันผุด้วยโพรไบโอติก พบกันในงาน Thailand Research Expo 2013

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.เปิดมิติใหม่ป้องกันฟันผุด้วยผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติก พบกับการจัดแสดงผลงานได้ที่บูทนิทรรศการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในงาน Thailand Research Expo 2013 ระหว่างวันที่ 22-27 สิงหาคมนี้

ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับอาจารย์ ทพญ.สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ และคณะผู้ร่วมวิจัยศึกษาเรื่อง ผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 ซึ่งเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ได้มาจากช่องปาก และมีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ โดยได้ใช้เวลาร่วม 10 ปี ในการศึกษาวิจัย การแยกเชื้อก่อโรค และเชื้อที่นำมาเป็นประโยชน์ในการรักษา จนถึงการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง การวิเคราะห์ผล

ศาสตรจารย์ ดร.รวี กล่าวว่า ผู้วิจัยมีการนำเชื้อต้านฟันผุดังกล่าวไปทดลองใช้ในอาสาสมัคร 2 กลุ่มคือ คนทั่วไป และผู้ที่เสี่ยงต่อฟันผุสูง เช่น คนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีการจัดฟัน ได้ผลออกมาว่า สามารถลดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคฟันผุได้ โดยกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อฟันผุสูง จะเห็นการลดลงของเชื้อฟันผุได้ชัดเจนกว่ากลุ่มความเสี่ยงต่ำ และเชื้อดังกล่าวสามารถคงอยู่ในช่องปากได้มากกว่า 1 เดือน

ปัจจุบัน ได้มีการนำ โพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 มาทดลองผสมเป็นอาหารเสริมในหลายรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค เช่น นมผง นมอัดเม็ด โยเกิร์ต และในเครื่องดื่ม โดยในการนำมาผสมในเครื่องดื่มจะนำเอาเชื้อมาทำในรูปของ microencapsulate ซึ่งมีลักษณะเป็นแคปซูลเล็กๆ คล้ายชาไข่มุก และต้องเคี้ยวเพื่อให้ตัวเชื้อได้ออกมาในช่องปาก การทำในรูปของแคปซูลจะทำให้เชื้อสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าการผสมลงในน้ำ และเครื่องดื่มโดยตรง

อย่างไรก็ตาม หากผสมในรูปของนมผง และโยเกิร์ตจะสามารถทำเชื้อมีอายุอยู่ได้นานนับปี โดยประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุไม่ต่างกัน และมีความปลอดภัยเนื่องจากปกติแล็คโตบาซิลลัสก็ถูกใช้ในการเตรียมโยเกิร์ตอยู่แล้ว เพียงแต่นำตัวเชื้อต้านฟันผุเข้าไปแทนที่เชื้อที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเท่านั้น

การใช้โพรไบโอติกในการป้องกันฟันผุ จะต่างกับการใช้น้ำยาบ้วนปาก ตรงที่น้ำยาบ้วนปากจะลดเชื้ออย่างเดียว แต่โพรไบโอติกจะมีทั้งสารฆ่าเชื้อที่ไม่ได้ทำให้เกิดการดื้อยา สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานต่อโรคได้ รวมทั้งจะเข้าไปขับตัวก่อโรค และเข้าครอบครองพื้นที่ในช่องปากแทน อย่างไรก็ตาม ฟันผุเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะจากเชื้อก่อฟันผุอย่างเดียว โพรไบโอติกนี้ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเกิดการผุที่รากฟันมากกว่าตัวฟัน เพราะมักจะมีอาการเหงือกร่นทำให้เกิดผุที่รากฟันง่าย การรักษาโดยใช้โพรไบโอติกสามารถรักษาฟันผุที่รากฟันได้ด้วย ซึ่งจะมีการขยายผลเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การวิจัยการรักษาฟันผุที่รากฟัน และการวิจัยเพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์ต่อไป ศาสตราจารย์ ดร. รวี เถียรไพศาล กล่าว

ทั้งนี้ เตรียมพบกับผลงานวิจัยได้ที่งานบูทนิทรรศการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(A47) ในงาน Thailand Research Expo 2013 ภายใต้การนำเสนอผลงานวิจัยผ่านชุดงานนิทรรศการในกลุ่มงานวิจัยด้านคุณภาพ ชีวิตและสังคม หัวข้อเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์และเวชภัณฑ์ โดยนำเสนอภายใต้ concept “PSU CELLS นวัตกรรมที่พลาดไม่ได้” ระหว่างวันที่ 22-27 สิงหาคม 2556

ภายในบูทนิทรรศการมีการแจกนมอัดเม็ดที่ผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุ การทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อโดยเกม การช่วยเหลือผู้สูงอายุภายในบ้านที่ต้องอยู่เพียงลำพัง การผ่าตัดนิ้วล็อกรูปแบบใหม่ที่เสร็จเพียงไม่กี่นาที แล้วหลังผ่าตัดสามารถทำงานได้เช่นเดิม นวัตกรรมช่วยเหลือผู้พิการด้วยเท้าเทียมอัจฉริยะ อุปกรณ์เสริมส้นเท้าทำจากยางธรรมชาติ และนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยมากมาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของท่านเอง พร้อมกันนี้ ขอเชิญท่านพบการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเหล่านี้ในการเสวนา พิเศษ เรื่อง “ม.อ.กับเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” ในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น