xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ขึ้นเชียงใหม่จัดเวทีชี้แจง-รับฟังโครงการรถไฟเร็วสูงระยะ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดเวทีชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ เบื้องต้นกำหนด 3 แนวทางเลือก คาดอีกประมาณ 1 ปีได้ข้อสรุป ชี้ได้ประโยชน์ช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ต่างจังหวัด

วันนี้ (13 ก.พ.) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอความสำคัญ ขอบเขตการดำเนินงานและรูปแบบแนวเส้นทางเลือก โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเข้าร่วมประมาณ 200 คน ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำเสนอแนวเส้นทางเลือกของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก-เชียงใหม่ 3 แนวเส้นทางเลือก โดยเริ่มจากจังหวัดพิษณุโลก จะผ่านอำเภอกระทุ่มแบน อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอพรหมพิราม เข้าสู่ทางเลือก

ประกอบด้วย แนวทางเลือกที่ 1 เป็นแนวเส้นทางที่ใช้ทางรถไฟเดิมเป็นหลัก โดยปรับรัศมีโค้งบางส่วนเพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วที่ต้องการได้ ระยะทางประมาณ 299 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่

ขณะที่แนวทางเลือกที่ 2 เป็นแนวเส้นทางที่ปรับเข้าใกล้ตัวเมืองจังหวัดแพร่ โดยแยกออกที่อำเภอห้วยไร่ จังหวัดแพร่ และวกกลับเข้าเส้นทางรถไฟเดิมที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่

ส่วนแนวทางเลือกที่ 3 เป็นแนวเส้นทางใหม่ที่แยกจากจังหวัดพิษณุโลกเข้าจังหวัดสุโขทัย ไปทางอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย แล้วผ่านเข้าเมืองลำปาง ระยะทางประมาณ 293 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ โดยที่ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ทุกทางเลือกจะวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิมจนถึงบริเวณดอยขุนตาล จากนั้นจะมีการตัดแนวเส้นทางใหม่เพื่อให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้ และจะวิ่งตามแนวเดิมจนถึงเชียงใหม่

สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุดจะเปรียบเทียบและให้คะแนนครอบคลุมปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิศวกรรม เช่น ระยะเวลาในการเดินทาง ความสามารถในการเข้าถึงระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น ค่าก่อสร้างและเวนคืน ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น คุณภาพอากาศ ทรัพยากรป่าไม้ แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก-เชียงใหม่ มีพื้นที่ที่ต้องตัดแนวเส้นทางใหม่และผ่านภูเขาสูง โดยที่ในส่วนที่ตั้งของสถานีรถไฟความเร็วสูงจะมีการพิจารณารายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด เช่น มีที่ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองในระยะ 1-5 กิโลเมตร มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับถนนสายหลักรองรับ ประชาชนสามารถสัญจรเข้าถึงได้อย่างสะดวก และเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองสูง เป็นต้น ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการศึกษาวิเคราะห์ทุกด้านอย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ นายจุฬาบอกว่า โครงการศึกษาฯ นี้ใช้งบประมาณ 304 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน ซึ่งถึงตอนนี้เริ่มดำเนินการไปแล้วประมาณ 3 เดือน เหลือเวลาดำเนินการอีกประมาณ 1 ปี ซึ่งการศึกษาเส้นทางคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อน โดยในช่วงต่อจากนี้ไปจะเป็นการลงพื้นที่รายจังหวัดและเส้นทางเพื่อเก็บข้อมูลในเชิงรายละเอียดเพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทาง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในแนวสายทาง

ขณะที่ในส่วนของโครงการนี้ที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ 2.2 ล้านบาทนั้น หาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านบาทไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ยังสามารถใช้งบประมาณตามขั้นตอนปกติมาดำเนินการได้ แม้อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าจากแผนเดิมบ้าง

โดยภาพรวมของการจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ให้การตอบรับค่อนข้างดีและเข้าใจว่าการมีรถไฟความเร็วสูงจะทำให้พื้นที่ได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เป็นการกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่อยู่ในเส้นทางที่ผ่านจะกลายเป็นเมืองหลัก ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่เพียงประมาณ 3 ชั่วโมง เบื้องต้นอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 1,074 บาท ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดผลดีต่อผู้เดินทางและสามารถแข่งขันกับสายการบินโลว์คอสต์ได้ไม่ยาก




กำลังโหลดความคิดเห็น