ASTVผู้จัดการออนไลน์...รายงาน
"หน่อย สีฟ้า" หรือ "ธนเทพ ชีวสุทธิศิลป์" ชายวัย 51 ปีหากเอ่ยชื้่อนี้ชาว จ.พิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียงจะต้องรู้จักเขาดี เพราะเขาเป็นทั้งนักธุรกิจ "จิวเวลรี่" และ "โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" รวมทั้งหมด 4 สาขาด้วยกัน ทั้งหมด 4 สาขา ตั้งอยูในเขตเทศบาลนครนครพิษณุโลก ที่มีลูกค้ามากมายทั้งในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง และในอีกไม่ช้านี้เขาจะมีธุรกิจชิ้นใหม่ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องสำอางค์ ภายใต้แบรนด์ "นารีน่า" ที่ขณะนี้กำลังทดลองตลอดอยู่และกำลังได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้นตามลำดับ ภายใต้การบริหารงานของ "นรี ชีวสุทธิศิลป์" บุตรสาวกับ "ธนนรินทร์ โตป่าเตย" บุตรเขย
สำหรับธุรกิจ "จิวเวลรี่" และ "โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" ทั้งหมด 4 สาขา ประกอบด้วย ร้าน "สีฟ้าเจมส์แอนด์จิวเวลรี่" สาขา 1 เลขที่ 87/48 ถ.เอกาทศรฐ อ.เมืองพิษณุโลก ร้าน "สีฟ้าเจมส์แอนด์จิวเวลรี่" สาขา 2 เลขที่ 88 ถ.พระองค์ดํา อ.เมืองพิษณุโลก ร้าน "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" สาขา 1 เลขที่ 87/34-35 ถ.เอกาทศรฐ อ.เมืองพิษณุโลก และร้าน "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" สาขา 2 เลขที่ 110/152 ถ.พระองค์ดำ อ.เมืองพิษณุโลก
"หน่อย สีฟ้า" หรือ "ธนเทพ ชีวสุทธิศิลป์" มีพี่น้องด้วยกันทั้ง 10 คน ตัวเขาเป็นคนที่ 6 เกิดที่ ต.ท่าสัก อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวมีฐานะยากจนจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ จ.สุโขทัย ค้าขายโชวห่วยเป็นแผงลอยที่ตลาดสดสุโขทัย เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า (เกียรตินิยม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบังปี 2529
"หน่อย" เริ่มการทำงานครั้งแรกกับบริษัทบอร์เนียว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิศวกรแผนกผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ (ฟูจิ) 2529-2531
หลังทำงานได้ปีเศษจึงมีความคิดที่จะออกมาเปิดกิจการของตัวเอง จึงลาออกและเดินทางมา จ.พิษณุโลก เปิดร้าน "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" เลขที่ 87/34-35 ถ.เอกาทศรฐ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2531 เป็นธุรกิจโฟโต้ ล้างฟิล์ม อัดรูป เป็นร้านแรกของเขาด้วยเงินที่เก็บรวบรวมมาจากการทำงานประมาณ 2 แสนบาท เขาทุ่มเทให้กับร้าน "สีฟ้า" กินนอนข้างเครื่องอัดรูปจนแทบไม่ได้ไปไหน จนทำให้ร้านสีฟ้า เป็นที่นิยมชมชอบ และรู้จักของชาวพิษณุโลก มีลูกค้ามาใช้บริการมากมายตั้งแต่เช้ายันมืด ทำให้เขาตัดสินใจขยายสาขา "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" เพิ่มอีกเป็น 3 สาขาในเวลาเพียงไม่กี่ปี
ต่อมาราวปี 2542 กล้องดิจิตอลเริ่มเข้ามีบทบาทมากขึ้น หน่อย จึงตัดสินใจซื้อเครื่องอัดรูประบบดิจิตอล โดยอัดรูปจากสื่อดิตอลได้ทุกชนิด เป็นเจ้าที่ 5 ของประเทศไทย และซื้อเพิ่มเป็น 4 เครื่อง ถือว่าเป็นช่วงหนึ่งที่ร้านสีฟ้า มีการเจริญเติบโตสูงมาก ลูกค้าค่อยๆ เปลี่ยนจากกล้องใช้ฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิตอล และนิยมนำไฟล์รุปมาอัดกันมาก
แต่กิจการดีอยู่ได้ถึงปี 2549 พฤติกรรมลุกค้าก็เปลี่ยนไป และสมาทโฟนเริ่มเข้ามีบทบาทแทน การนำไฟล์รูปมาอัดเป็นรูปจึงเริ่มน้อยลงและแทบจะไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้า จนทำให้ร้านสีฟ้า ที่อยู่มี 3 สาขารายได้ลดลงฮวบอาบจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะฟิล์มถูกเลิกใช้ ผู้บริโภคไม่นิยมรูปที่เป็นกระดาษเหมือนเดิม และกล้องถ่ายรูปถูกแทนที่ด้วยสมาทโฟน จึงทำให้หน่อย เครียดมาก
"ผมเครียดมากช่วงที่ร้านสีฟ้าโฟโต้ ที่อยู่มี 3 สาขารายได้ลดลงอย่างมาก จากที่เคยมีลูกค้ามาเข้าคิวรออัดรูปกันตั้งแต่เช้าจนถึงปิดร้าน กลับต้องมาเปิดร้านรอลูกค้าตั้งแต่เช้าว่าจะมีลูกค้ามาอัดรูปอีกหรือไม่จนถึงปิดร้านแทบทุกวัน บางวันมีลูกค้าเพียงไม่กี่รายที่มาใช้บริการ" หน่อย กล่าว
แต่ หน่อย ก็ไม่ย่อท้อ จึงหารือกับนางจิราภรณ์ ชีวสุทธิศิลป์ ภรรยา มองหาธุรกิจตัวใหม่เพื่อมาทดแทนธุรกิจ "โฟโต้" โดยตั้งหลักเเกณฑ์ไว้ 4 ข้อคือ 1.ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ไม่ต้องใช้เครื่องและอุปกรณ์ที่มีราคาแพง 2.เป็นธุรกิจที่ตัวเองและและครอบครัวมีใจรักและชอบ 3.ไม่ต้องใช้พนักงาน 4.สินค้าที่ขายต้องมีราคาเพิ่มขึ้นตลอดไปหรืออย่างน้อยก็ไม่มีราคาลดลง
หลังจากเลือกธุรกิจตามเกณฑ์ที่กล่าวมาเหลือเพียง 2 ธุรกิจคือ 1.ขายเพชร และ 2.ขายพระเครื่องที่หน่อย สะสมมานานร่วมกว่า 20 ปี แต่เนื่องจากพระเครื่องเป็นสิ่งที่ถ้าถ้าปล่อยขายไปแล้วอาจจะหาซื้อคืนไม่ได้ อีกอย่างภรรยาของหน่อย ไม่เห็นด้วยที่จะนําพระที่เคารพบูชา มาเป็นสินค้าเพื่อขาย สรุปจึงเหลือธุรกิจร้านเพชร ที่ผ่านเกณฑ์ เพราะตัวเองและคนในครอบครัวมีใจรักและชอบ ไม่มีเครื่องมือแพงๆ ไม่ต้องใช้พนักงานมาก อละมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี 3-5%
"หลังจากตัดสินใจแล้ว ผมจึงเริ่มศึกษาและจัดเตรียมสถานที่ โดยซื้อที่ดินและก่อสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเปิดสาขาแรกชื้อ "สีฟ้าเจมส์แอนด์จิวเวลรี่" เลขที่ 87/48 ถ.เอกาทศรฐ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อกลางปี 2553 และเปิด "สีฟ้าเจมส์แอนด์จิวเวลรี่" สาขา 2 เลขที่ 88 ถ.พระองค์ดํา อ.เมือง จ.พิษณุโลก ในปี 2554 ส่วนธุรกิจโฟโต้ก็ยังคงรักษาไว้ 2 สาขา ถึงแม้ปัจจุบันแทบไม่เหลือกำไร แต่มันเป็นธุรกิจที่ผมทำมา 25 ปี เปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นร้านประจำจังหวัด จึงจะพยามรักษาร้านสีฟ้าโฟโต้ฯ ไปให้นานเท่าที่จะได้
สำหรับธุรกิจร้านเพชร ปัจจุบันก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งในจังหวัดพิษณุโลกและภาคเหนือตอนล่าง โดยผมเน้นเรื่องคุณภาพที่ดี มีสินค้าให้เลือกเยอะทุกราคา ราคาสมเหตุผล ความจริงใจ ซื่อสัตย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า โดยมีการออกใบรับประกันให้ทุกชิ้น รับเปลี่ยนและรับซื้อคืนจึงมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะดำเนินไปได้ด้วยดี" หน่อย กล่าว
"หน่อย สีฟ้า" หรือ "ธนเทพ ชีวสุทธิศิลป์" นอกจากเขาจะเป็นเจ้าของธุรกิจ "จิวเวลรี่" และ "โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" ทั้งหมด 4 สาขาแล้วยังถือว่า "เป็นนักสะสมพระเครื่องตัวยงอีกคนหนึ่งของเมืองไทย" ที่มีการสะสมพระเครื่องมากกว่า 10,000 องค์ ในำจวนนี้มีพระเก่าหาชมได้ยากประมาณ 300 - 500 องค์
เรื่องการสะสมพระเครื่องนั้น "หน่อย" บอกว่า เริ่มสะสมตั้งแต่ปี 2534 ครั้งแรกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่นำพระเครื่องมาซื้อขายกัน จึงไม่ได้สนใจ แต่ชอบไปไหว้พระ ทำบุญตามวัดต่างๆ ประจำ เหตุที่ทำให้หันมาสะสมพระเครื่องนั้นเกิดจากครั้งหนึ่งได้ไปบ้านภรรยาที่ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร พบกับพ่อตาที่ไรมักจะคุยแต่เรื่องพระให้ฟังอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระในพิจิตร เช่น หลวงพ่อเงิน หลวงเพชร หลวงพ่อเขียน เมื่อได้ยินได้ฟังมากๆ เข้าจึงเกิดความสนใจ พอกลับมาพิษณุโลก จึงเริ่มศึกษาหาความรู้ หาหนังสือที่เกี่ยวกับพระมาอ่าน โดยอ่านทุกฉบับที่มีวางขายตามแผงหนังสือ
หลังจากนั้นจึงเริ่มส่งธนาณัติไปบูชาตามวัดต่างๆ ที่มีการจัดสร้าง เช่น หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อเกษม หลวงพ่อเปิ่น หลวงพ่อแพ และเริ่มซื้อหาบูชาพระใน จ.พิษณุโลก แต่เนื่องด้วยตอนนั้นเงินยังไม่มี ยังหมุนเงินตัวเป็นเกลียว เนื่องจากเงินยังไม่ค่อยมี ต้องเอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจ "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" ซึ่งเป็นธุรกิจแรกที่ทำให้ผมมีทั้งร้าน "สีฟ้า โฟโต้เอ็กซ์เพรสส์" และ "สีฟ้าเจมส์แอนด์จิวเวลรี่" มาได้ทุกวันนี้ จึงสะสมพระได้แค่ราคาหลักร้อย หลักพัน มีแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง เพราะเล่นพระคนเดียว อ่านหนังสือ ดุรูป แล้วก็หาซื้อไม่มีที่ปรึกษา ที่ไหนได้วงการพระมีอะไรอีกเยอะมากที่เราไม่รู้ อ่านหนังสืออย่างเดียวไม่พอ จึงเริ่มทำความรู้จักกับผู้ที่สะสมและอยู่ในวงการนี้มานานๆ จึงทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
"หลักการพระของผมคือ ชอบพระสวยๆ สภาพดี ซื้อกับคนที่เรามั่นใจจริงๆ แพงขึ้นสัก 20-30% ก็ยอม พระที่ผมสะสมมา 25 ปีมีประมาณกว่า 10,000 องค์ มีพระเก่าประมาณ 300 - 500 องค์ นอกนั้นเป็นพระใหม่ที่สร้างตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา"
"หน่อย" โชว์ " พระอัฏฐารส กรุวัดใหญ่ พิษณุโลก" ที่มีอายุราว 700 ปีให้เราดูพร้อมกล่าวว่า พระที่สะสมส่วนใหญ่เป็นพระในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เช่น พระอัฏฐารส พระพุทธชินราชเกือบทุกรุ่น กริ่งพระนเรศวร ปี 2515, 2522 และ 2542 พระนางพญากรุโรงทอ พระกรุวัดจุฬามณี พระฝักไม้ดำ พระลีลาวังหิน หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน หลวงตาละมัย วัดอรัญญิก กริ่งนางพญาเนื้อทองคำ กริ่งธรรมราชาเนื้อทองคำ ฯลฯ
ส่วนพระจังหวัดอื่น เช่น หลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบเล็กรุ่นแรก หลวงพ่อเงิน ปี 2515 เจ้าคุณนรรัตน์ วัดเทพศิรินทร์ หลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ หลวงพ่อเกษม สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ วัดเมือง วัดประสาท พระผงสุริยันจันทรา ปี 2530 จ.นครศรีธรรมราช ฯลฯ
ส่วนพระจังหวัดอื่นก็มีเช่น หลวงปู่ทวด หลวงพ่อเงิน เจ้าคุณนรรัตน์ หลวงพ่อเกษม หลวงพ่อคูณ หลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา และพระผงสุริยันจันทรา ปี 2530 นครศรีธรรมราช ฯลฯ
แต่ช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมา ผมเริ่มสะสมพระที่จัดสร้างใหม่โดยดูความนิยมจำนวนการสร้างชัดเจน พิธีดี มีการตอกโค้ดและหมายเลข อาทิ หลวงพ่อเงิน รุ่นกองทุน 53 พระพุทธชินราช รุ่นจอมราชันย์ หลวงปู่ทวด ที่จัดสร้างโดยพุทธอุทธยานมหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่บัว จ.ตราด และผลงานพุทธศิลป์ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย
ส่วนพระที่เก็บสะสมที่อายุมากที่สุด คือ พระคงกรุเก่า ลำพูน อายุประมาณ 1200 ปี พระอัฏฐารส กรุวัดใหญ่ พิษณุโลก อายุประมาณ 700 ปี พระนางพญา อายุประมาณ 400 ปี ซึ่งได้มาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วราคาไม่แพงมากเหมือนปัจจุบัน แต่กว่าจะได้ต้องใช้เวลา เพราะเจ้าเดิมหวงกันมาก
"พระที่ผมคล้องติดตัวประจำช่วงวัยรุ่นจนเรียนจบคือหลวงพ่อห้อม รุ่นแรก วัดคูหาสุวรรณ จ.สุโขทัย ที่แม่ใส่กรอบให้ เคยมีอุบัติเหตุบ่อยมากสมัยเรียนที่ลาดกระบัง ปลอดภัยทุกครั้ง เคยทำหายไป 4 ครั้งแต่ก็ได้คืนมาทุกครั้ง และตลอด 25 ปีที่ผ่านมาที่ผมคล้องประจำคือเหรียญเจ้าคุณนรรัตน์ ปี 2513 เป็นพระในดวงใจ คอยเตือนสติให้ทำดี เหมือนท่านอยู่กับเราตลอดเวลา และเหรียญหลวงปู่ทวด ปี 2504 พุทธคุณเด่นเรื่องแคล้วคลาด ปลอดภัย เพราะเป็นคนชอบขับรถเร็ว มีเหรียญนี้ทำให้เรามั่นใจและมีสติ
นอกจากนี้ ยังพกตะกรุดหลวงตาละมัย วัดอรัญญิก และเหรียญของท่านไว้ในกระเป๋า ทุกครั้งที่เดินทางหรือมีธุระสำคัญ สำหรับตะกรุดนี้ต้องใช้เวลารอคอยถึง 20 ปีขอท่าน ตามถามตลอดจนเกือบ 20 ปีท่านจึงมอบให้และกำชับว่าเอาติดตัวตลอด ช่วยได้ทุกอย่าง ตะกรุดท่านมีประสบการณ์ดีมาก เคยมีรถไฟชนรถเก๋งพังยับ แต่คนขับรถไม่เป็นอะไรเลย มีตะกรุดของท่านดอกเดียว และการคล้องพระเหมือนเตือนให้เราเป็นคนดี คิดดี และมีสติอยู่ตลอดเวลา
"สวนพระที่ผมเคยอยากได้และได้ยากมากที่สุดมีหลายองค์ องค์แรกคือพระคงลำพูน องค์สวยหน้าตาชัดมาก เจ้าของเดิมหวงมาก เคยประกวดติดรางวัลงานใหญ่ระดับประเทศเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ต่อมาได้ขายให้กับคุณวสันต์ วชิราศรีศิริกุล รองนายกเทศบาลอรัญญิก ผมตามไปขอซื้อหลายครั้งแต่คุณวสันต์ บอกว่ายังรักอยู่จึงเลิกติตาม ผ่านมา 5-6 ปี คุณวสันต์ โทรมาถามว่าจะขาย ยังจะเอาอยู่หรือปล่าว รีบตกลงเลยครับได้มาพร้อมพระอัฏฐารส ในราคา 2 แสนบาท (เมื่อ 15 ปีที่แล้ว)
ต่อมา คือ หลวงพ่อพันธ์ วัดบางสะพาน ด้วยความที่อยู่ จ.พิษณุโลกมานาน ได้ยินเรื่องราวและเห็นพระหลวงพ่อพันธ์ มาก แต่ไม่เคยคิดจะบูชาเอาไว้ก่อน คนส่วนใหญ่คิดว่าผมมีมาก แต่ที่ไหนได้ไม่มีสักองค์ จนพระมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2550 อยากได้มากตอนเวลา 3 ทุ่มจึงโทรหา อ.โชคชัย งามสิทธิโชค ผู้ที่เชี่ยวชาญและมีหลวงพ่อพันธ์ องค์สวยๆ มากที่สุด โดยครั้งแรกขอซื้อเหรียญทองคำเพียงเหรียญเดียว แต่พ่อชวนคุยกันไปเรื่อยๆ จนมีจังหวะเลยขอซื้อทุกแบบที่เป็นชุดที่ประกวดได้รางวัลที่ 1-2 เกือบทุกงาน รวมประมาณ 35 องค์ 35 แบบโดยรับปากว่าจะเก็บรักษาเป็นอย่างดี จะไม่แยกขายออกไป เพราะ อ.โชคชัย ใช้เวลารวบรวมองค์สวยๆ แต่ละแบบจนได้ครบ ใช้เวลามาเกือบ 20 ปี จึงไม่อยากขายให้ใคร เพราะพระจะกระจายออกไปหลายที่ เสียดายเวลาที่รวบรวม นับว่าโชคดีมากทีเดียวได้องค์แชมป์เกือบครบทุกแบบ"
สำหรับประสบการณ์กับพระเครื่องนั้น "หน่อย สีฟ้า" บอกว่า โดยส่วนตัวเชื่อในเรื่องกรรม เชื่อมั่นในการทำความดีตามคำสอนของเจ้าคุณนรรัตน์ ที่ว่า "ทำดี ดีกว่าขอพร" ผมจึงพยามยามยึดศีล 5 ให้ได้มากที่สุดและจะไม่ก่อกรรมใหม่โดยเด็ดขาด เรื่องอุบัติเหตุไม่เคยเกิดขึ้น เหมือนน่าจะเกิด น่าจะแรงก็เหมือนมีอะไรมาหน่วงเวลาไว้
โดยเฉพาะช่วงตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-44 ธุรกิจที่ผมทำอยู่ถึงกับทรุดลงทันที แต่สิ่งที่ยึดเหนี่ยวและช่วยให้ทุกอย่างกลับมาเป็นทางบวกคือ "พระผงสุริยันจันทรา" โดยมีเซลล์คนหนึ่งที่รู้จักบอกว่า "พี่เชื่อผมลองเอาผ้ายันต์ติดที่ร้านและบุชาพระเนื้อผง รับรองช่วยได้" ไม่มีทางอื่นแล้ว ผมกับภรรยาจึงบอกตกลงจะทำตามคำแนะนำ หลังจากนั้น 2 เดือนผมมีโอกาสดีๆ เข้าตลอด ทุกวันจะมีบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย รวมทั้งยี่ปั้วในกรุงเทพฯ โทรมาขายฟิล์มสี กระดาษอัดรูป ซึ่งเป็นของนำเข้า โดยขายราคาเดิมเพราะเป็นสต็อคเก่าอัตราแลกเปลี่ยนเดิม เพียงเพราะเขาต้องการเงินสด ผมรับซื้อหมดจนเต็มร้าน เต็มบ้าน จนไม่ทางจะเดิน
หลังจากนั้น 3-4 เดือนสินค้าที่ใช้ในร้านรูปเกิดขาดตลาด เพราะไม่มีการนำเข้า บริษัทและยี่ปั้วที่ขายสินค้าให้ผม ต้องกลับมาขอซื้อคืนในราคาเกือบสองเท่า ทำให้ธุรกิจของผมกลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโดนสรรพากรเรียกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และโดนบริษัทเลแมนบราเทอร์ ที่ไปประมูลสินทรัพย์ไปจาก ปรส.ฟ้อง เพราะผมเป็นลูกหนี้บริษัท ศรีมิตร คำฟ้องเป็นภาษาอังกฤษ ผมขึ้นศาล 3 ครั้งแต่ก็ตกลงอะไรกันไม่ได้ ทนายก็ช่วยอะไรไม่ได้เพราะป็นเรื่อง พ.ร.บ.ใหม่ ผมพยายามดิ้นรนด้วยตัวเองหาทุกวิธีที่คิดว่าใช่ แต่ก็ไม่จบ ผมเครียดมาก ตื่นเช้ามาก็คิด ตอนนอนก็คิด ทุกเดือนไม่ไปสรรพากร ก็ต้องไปขึ้นศาล ทางที่จะจบก็ไม่มี
"วันหนึ่ง อ.ขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ได้มาพูดให้ฟังว่า ตอนนี้เป็นเลขาคณะกรรมการจัดสร้างพระพุทธนาคบริรักษ์ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้เงินจัดสร้าง 20 ล้านบาท โดยรับบริจาคเพียง 100 รายๆ ละ 2 แสนบาทใช้เวลา 15 นาทีคนบริจาคครบ ซึ่งผมอยากมีส่วนร่วมบริจาคด้วยมาก จึงขอให้ อ.โจ้ ช่วย อ.โจ้ บอกว่าต้องเอาเข้าที่ประชุมก่อนเพราะเสี่ยเจริญ จะบริจาคยังไม่ทันเลย หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ อ.โจ๋ โทรมาบอกว่าที่ประชุมโอเค ผมจึงเป็นคนที่ 101
หลังจากโอนเงินทำบุญเพียงวันเดียว เรื่องที่มีปัญหากลับดีหมด สรรพากรเป็นฝ่ายขอจบ โดยผมเสียภาษีและค่าปรับในจำนวนที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่ายทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ สอบสวน ตรวจสอบ ถกเถียงกันมาตลอด ส่วนเรื่องที่ถูกบริษัทเลแมนบราเทอร์ฟ้อง ผมได้มีโอกาสที่ดีได้พบกับชาวต่างชาติที่มีอำนาจจัดการ 2 คน และเซ็นต์ยุติการฟ้องร้องโดยจากเดิมเงินต้นรวมดอกเกือบ 3 ล้านบาท เหลือเพียง 6 แสนบาท"
นั่นคือประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการสะสมบูชาพระเครื่องด้วยจิตศรัทธา เชื่อมั่นที่เกิดขึ้นกับเขา
"หน่อย สีฟ้า" เปิดเผยด้วยว่า ช่วงแรกของการสะสมเป็นเพราะว่าผมคุยกับใครไม่รู้เรื่อง คนรอบข้างสะสมพระกันคุยแต่เรื่องพระกัน ผมจึงต้องมาศึกษาและสะสมเพื่อให้พูดคุยกับคนอื่นได้และรู้เรื่อง ช่วงที่ 2 หลังจากศึกษามากขึ้นทำให้รู้ว่าถ้าสะสมถูกทางพระจะมีราคาสูงขึ้น ขายได้กำไร หรือเป็นการลงทุนได้ ผมจึงคิดที่จะงสะสมพระแบบเก็งอนาคต หวังว่าวันหน้ามีราคาสูงจะได้ขาย "แต่สรุปแล้วผมยังไม่เคยขายเลยครับ"
ช่วงที่ 3 หลังจากที่ได้รู้จักคนในสังคมพระเครื่องมากขึ้น ทำให้มีความสุขในการสะสม จึงมีโอกาสได้เลือกสะสมพระองค์สวยๆ และเป็นความสุขทางใจ หลังจากเหนื่อยกับงานการได้คุยเรื่องพระ การนั่งส่องพระ การอ่านหนังสือพระ ถือเป็นการพักผ่อนที่ดีของผม
ช่วงที่ 4 หรือช่วงปัจจุบันด้วยวัยที่สูงขึ้นการสะสมจึงน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นการทำบุญมากกว่า ผลที่ได้จากการอ่านหนังสือพระเครื่องมา 25 ปี ทำให้ได้รู้เรื่องหลักธรรมบ้าง การปฏิบัติตนบ้าง การใช้ชีวิตที่ดี สามารถเอามาเป็นแนวทางดำรงชีวิตในช่วงบั้นปลายของชีวิตได้
"ถ้าผมถามว่าเคยมีคนมาขอซื้อหรือไม่ เมื่อก่อนจะมีบ่อยมาก แต่หลังๆ นี้ไม่เคยมี เพราะจะทราบว่าผมไม่ขาย และตั้งแต่ที่ผมเริ่มสะสมมาผมตั้งจิตไว้เลยว่าจะขายก็ต่อเมื่อขัดสนจริงๆ แต่ผ่านมา 25 ปีแล้วผมยังไม่เคยขัดสน และตอนนี้ที่มีคนตามมาขอซื้อมากที่สุดคือ หลวงปู่ทวด พุทธอุทธยานมหาราช หมายเลข 9 ที่ผมประมูลเพื่อการกุศลนำเงินไปซ่อมโรงเรียนที่ถูกน้าท่วมในพระนครศรีอยุธยา โดยขอชื้อถึงหลักล้านบาท แต่ผมอธิบายไปว่าจะเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลาน และที่สำคัญจะได้สิทธิจองหลวงปู่ทวด รุ่นที่ 2 หมายเลข 9 เนื้อทองคำ ซึ่งออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ปัจจุบันราคาพุทธศิลป์ของอาจารย์ที่เคยจัดสร้างมามีราคาสูงมากโดยเฉพาะเนื้อทองคำ ราคาหลักล้านขึ้น
ดังนั้น ผมขอยืนยันครับว่า พระเครื่องทุกองค์ที่ผมสะสมมาผมคงเก็บไว้เป็นมรดกส่งต่อให้หลานของผมทั้ง 2 คนครับ" หน่อย สีฟ้า กล่าวในที่สุด