xs
xsm
sm
md
lg

“บุญสะดวกซื้อ” บิณฑบาตเวียนวน ฮั้วเงินลงย่าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชีวิตที่รีบเร่งบีบให้คนเมืองรักสบายในทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องตักบาตรทำบุญ ชาวพุทธทั้งหลายไม่ต้องกลัวตื่นสาย ใส่บาตรไม่ทัน หรือคิดหนักเรื่องการซื้อกับข้าวมาทำบุญกันอีกต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ พระมีบริการฮั้วกับร้านขายกับข้าว ทำบุญ ณ จุดขาย
คนใจบุญสามารถซื้อกับข้าวจากร้านค้าที่ตกลงผลประโยชน์กับพระเอาไว้ แล้วใส่บาตรให้พระซึ่งยืนอยู่ประจำหน้าร้านแห่งนั้นได้เลย เรียกได้ว่า ซื้อปั๊บ ตักบาตรปุ๊บ รับบุญไปเลยทันที แหม... สมัยนี้ “บุญสะดวกซื้อ” มันช่างรวดเร็วทันใจเสียจริง!




บิณฑบาตเวียนวน ฮั้วแผงกับข้าว
ต้องยกความดีความชอบให้แก่นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เขียนข่าวแฉพระสงฆ์รูปหนึ่งเอาไว้ในเว็บข่าว “โคโคนิวส์” พร้อมแนบคลิปที่ชื่อ "พระสงฆ์ยืนรับบาตร ฮั้วแผงกับข้าว" ยืนยันหลักฐาน บอกเล่าพฤติกรรมการบิณฑบาตที่น่าละอายเอาไว้

โดยพระรูปนั้นจะเดินทางมายืนอยู่หน้าร้านขายกับข้าวร้านหนึ่งในทุกเช้า เพื่อให้พุทธศาสนิกชนซื้อกับข้าวและตักบาตรกันตรงนั้นได้ในทันที จากนั้นกับข้าวที่ทำบุญแล้วก็จะถูกเวียนคืนกลับไปยังร้านเดิม และเอาออกมาขายใหม่อีกรอบ กระทั่ง 08.00 น. ของทุกวัน จะเป็นเวลาเจ้าหน้าที่เทศกิจออกไล่แผงขาย ทั้งพระและเจ้าของร้านก็จะหันมาแบ่งรายได้กัน ก่อนแยกย้ายและกลับมาทำแบบเดิมเป็นกิจวัตรในเช้าวันถัดมา

เรียกได้ว่าฮั้วกันต่อหน้าต่อตาจนชาวบ้านรับไม่ไหว ต้องร้องเรียนต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาชลบุรี ลือกันหนาหูจนนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาต้องออกมาทำข่าว ถ่ายคลิปอัปลงยูทิวบ์เอาไว้ จนกลายเป็นคลิปร้อน ชวนผู้คนบนโลกออนไลน์มานั่งถกเถียงถึงความไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าตอนนี้ เจ้าของ User ในยูทิวบ์จะตั้งค่าไฟล์วิดีโอให้เป็น Private คนทั่วไปเปิดดูไม่ได้แล้ว แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่จบ เพราะไม่ใช่แค่พระสงฆ์รูปนี้เท่านั้นที่ทำอย่างนี้ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยเห็นพฤติกรรมฮั้วกับร้านค้า-แลกเงินเข้าย่ามแบบนี้จากหลายที่หลายครั้ง ทำให้หลายคนเสื่อมศรัทธาอย่างบอกไม่ถูก

แค่ฮั้วกันเพื่อแลกแบงก์ลงย่ามก็ถือเป็นอกุศลระดับหนึ่งแล้ว ที่แย่กว่านั้นคือพฤติกรรมดังกล่าวยังผิดวินัยสงฆ์ด้วย “การบิณฑบาตต้องเดินไปเรื่อยๆ บ้านต่อบ้าน การยืนหรือนั่งอย่างนี้ มันผิดหลักพระวินัย และการปักหลักบิณฑบาตหน้าร้านค้าแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วย เป็นความละโมบ อยากจะได้โดยไม่คิดถึงระบบระเบียบและไม่เอื้อเฟื้อคนอื่นเขา เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาง่ายๆ ไม่ต้องพูดถึงว่าหลังจากนั้นจะได้หรือไม่ได้ปัจจัยอะไรตอบแทน มันผิดวินัยตั้งแต่ยืนปักหลักบิณฑบาตแล้วพระรัตนเมธี หัวหน้าวินยาธิการ ตำรวจพระและผู้ดูแลกฎพระสงฆ์ วัดแก้วฟ้าจุฬามณี อธิบายเอาไว้อย่างแจ่มแจ้ง




“บุญสะดวกซื้อ” สนองสังคมเมือง
“จะโทษพระฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ผิดทั้งพระ ผิดทั้งโยมนั่นแหละครับ” คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ผู้สอนวิชาศาสนาในสังคมปัจจุบัน ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เตือนสติเอาไว้เกี่ยวกับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น เพราะพุทธศาสนิกชนคนเมืองนั่นแหละที่ทำให้เป็นแบบนี้

“โยมในยุคปัจจุบันรักสะดวกที่จะทำบุญ อยากซื้ออาหารใส่บาตรง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมเอง มันเลยเกิดร้านที่เตรียมอาหารใส่บาตรแบบนี้ขึ้น ทำให้กลไกนี้เกิดขึ้น เป็นผลพวงจากการเกิดเมืองสมัยใหม่ เพราะพระในชนบท คนยังควบคุมพระ คอยดูว่าพระมีพฤติกรรมยังไง การที่พระจะมาฮั้วกับร้านเลยมีโอกาสเป็นไปได้น้อย การขยายตัวของเมืองก็น้อย เพราะฉะนั้น ในอดีตในชนบทเนี่ย เอาแค่รับให้พอกินก็ลำบากแล้ว แต่ในปัจจุบัน ทุกอย่างมันล้นเกินไปหมด พระก็เลยเกิดการฮั้วกับร้านอย่างที่เห็น ต่างคนก็ต่างเอื้อกันตามระบบของเมืองใหญ่

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เหมือนกับกิจกรรมทำบุญที่เราเห็นตามซุ้มต่างๆ ในวัดนั่นแหละครับ อย่างเดียวกันกับถวายสังฆทานเวียน พอศาสนามันเปลี่ยนไปเข้าใกล้ทุนนิยมหรือบริโภคนิยมปุ๊บเนี่ย บุญจึงทำให้เป็นสิ่งซื้อขายได้ โยมทั้งหลายก็ต้องการแค่ไปจ่ายเงินและทำอะไรบางอย่างเพื่อจะได้บุญตามความรู้สึกของเขา พระหรือวัดก็รู้ว่าโยมต้องการแบบนั้น ก็ตอบสนองกันไป จัดพิธีกรรมให้เล็กน้อยเพื่อให้เกิดความสบายใจ มันเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้คนเห็นบุญเป็นเรื่องสะดวกซื้อ”

เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ อาจเป็นเพราะคนเมืองมีจำนวนมาก ทำให้การรับบิณฑบาตเกินความจำเป็น “พระอาจจะคิดว่าอาหารมันเกินความต้องการ ก็เลยเกิดการฮั้วกับร้านค้าแล้วแลกมาเป็นเงินแทน ร้านค้าก็ได้ประโยชน์คือขายข้าวได้ ตัวพระก็ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นปัจจัย แต่ถามว่ามันถูกต้องตามอุดมการณ์ในพระธรรมวินัยมั้ย มันไม่ถูกต้อง และจริงๆ แล้ว การรับอาหารบิณฑบาตก็เป็นไปเพื่อการบริโภค พระวินัยระบุไว้ว่าต้องเสมอขอบปากบาตรแล้วก็หยุด ต้องไม่รับอาหารที่เกินจากนั้นแล้ว แต่การยืนรับบาตรอยู่หน้าร้านค้าแบบนั้น มันต้องเกินขอบปากบาตรอยู่แล้ว

ดังนั้น หากพระรูปใดจะอ้างว่าบิณฑบาตเวียนเช่นนี้ ดีกว่ารับเอามาแล้วปล่อยให้มีอาหารมากองไว้เกินความจำเป็น อาจารย์คมกฤชก็ขอแนะว่าปัญหานี้มีทางออกอยู่


“ผมมองว่าถึงจะรับบิณฑบาตเกินจากพระธรรมวินัย แต่ถ้าสามารถเอาอาหารนั้นไปเกื้อกูลคนอื่นได้ เช่น ผู้ต้องขัง ญาติโยมที่วัด คนยากคนจน ผมว่ามันก็ไม่เป็นปัญหา แต่การที่พระมุ่งหมายเงิน ถามว่าเงินที่ได้มานั้นไปอยู่กับใคร อยู่กับพระแต่ละรูปหรือไปเป็นของส่วนกลาง ซึ่งกรณีนี้ ผมมั่นใจว่าเงินจะไปอยู่กับพระแต่ละรูป ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แถมพระยังทำผิดวินัยซ้ำซ้อนอีก คือรับในรูปเงินทอง ส่วนโยมก็กลายเป็นมองบุญเป็นเรื่องสะดวกซื้อ แค่มีตังค์-จ่ายเงิน-จบ มันผิดไปไกลจากเจตนารมณ์พุทธศาสนามากแล้ว





ความหมายของ “บุญ” ที่แท้จริง
อาจเพราะชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “บุญ” ที่จริงๆ แล้วคืออะไร จึงทำให้ยังคงมีการถวายสังฆทานเวียนและการตักบาตรกับพระซึ่งยืนนิ่งๆ อยู่หน้าร้านขายกับข้าวแบบนี้เกิดขึ้น

“ผมว่าเราต้องให้ความรู้คำว่าบุญกันใหม่ สร้างทัศนคติแบบใหม่ ถ้าพูดถึงเรื่องสังฆทานตามความหมายเดิม มันคือการถวายของให้เป็นส่วนกลาง เพราะฉะนั้น จะไม่ใช่แค่การจำกัดรูปแบบอยู่แค่การถวายถังเหลือง แต่มันคือการถวายของสำหรับส่วนรวม แต่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเหลือแค่รูปแบบที่ปราศจากเนื้อหาสาระแล้ว เพราะคนไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ของการทำสังฆทาน การบิณฑบาต ทุกวันนี้เรายึดติดกับการได้มาซึ่งรูปแบบของการได้บุญกันมากเกินไป ต้อง 1-2-3-4 ขั้นตอนตามนี้นะ คุณถึงจะได้บุญ คนเลยรู้สึกกันไปว่าถ้าไม่ทำตามนั้นอาจจะไม่ได้บุญ” อาจารย์คมกฤชชี้ต้นเหตุของปัญหาเอาไว้ให้

สรุปแล้ว “บุญ” คืออะไร พระรัตนเมธี จึงชี้ทางสว่างให้ว่า “การทำบุญ ไม่ต้องใช้วัตถุเลยก็ได้ เพียงแค่เห็นคนอื่นทำบุญ เราอนุโมทนาก็ถือเป็นบุญได้แล้ว บุญแปลว่า เบา สบาย แปลว่าเครื่องชำระกิเลส ความชื่นอกชื่นใจ ทำแล้วชื่นอกชื่นใจ สบายใจ ทำให้ไม่มีความตระหนี่ถี่เหนียว อย่างนี้เรียกว่าบุญ”

แต่การทำบุญนั้นก็ต้องทำอย่างมีสติและเลือกผู้ที่จะทำด้วย “พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ เพราะบุญที่จะได้บุญเต็มที่ต้องทำกับผู้ทรงศีล ทานก็ต้องเป็นทานที่บริสุทธิ์ หมายความว่าทานที่ได้มาต้องได้มาโดยบริสุทธิ์ คือวัตถุต้องบริสุทธิ์ ผู้รับต้องบริสุทธิ์ และเจตนาที่ให้ต้องบริสุทธิ์ อย่างนี้เรียกว่าได้บุญร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันขาดไปส่วนใดส่วนหนึ่ง บุญมันก็ได้ แต่ก็ได้น้อยลง ถ้าเราไปให้แก่ผู้ที่ไม่มีศีล มันก็ได้บุญแต่ได้น้อย”

วิธีเลือกง่ายๆ คือให้ทำบุญกับพระที่รู้จักหรือวัดใกล้บ้านดีที่สุด “ไอ้พระที่มาตามถนนหนทาง ไม่คุ้นหน้า อย่าไปทำเลย อันนี้ไม่ใช่ว่าเราแบ่งแยก เพราะการทำบุญ โยมสามารถเลือกได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็บอกแล้วว่าการทำบุญต้องเลือกบุคคลด้วย ถ้าเผื่อเราไปทำกับพระที่ประพฤติปฏิบัติมิชอบ แทนที่จะได้บุญ มันกลับจะเป็นการได้บาป เพราะไปสนับสนุนให้พระประพฤติมิชอบ แต่ถ้าเราถวายสังฆทานนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เราต้องไม่บุคลิก ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นรูปไหน มันถึงจะตรงตามความหมายของสังฆทาน คือการถวายให้สงฆ์โดยไม่เฉพาะเจาะจง”





เมื่อแบงก์พบผ้าเหลือง
เห็นพระภิกษุลุกขึ้นมาฮั้วกับฆราวาสเพื่อแลกปัจจัยลงย่ามแบบนี้แล้ว ชวนให้สงสัยว่าผู้นุ่งเหลืองห่มเหลืองควรข้องเกี่ยวกับเงินได้มากน้อยแค่ไหน เพราะพระวินัยระบุเอาไว้ชัดเจนว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระรัตนเมธี หัวหน้าวินยาธิการ จึงให้คำตอบว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้พระวินัยข้อนั้นเป็นไปไม่ได้

เวลาพระไปซื้อของ เวลาพระไปขึ้นรถ-ลงเรือ ถามว่ามีโยมคนใดถวายค่ารถ-ค่าเรือให้ท่านมั้ย ก็ไม่มี แล้วจะให้พระทำอย่างไร ให้อยู่กับวัดอย่างเดียวหรือ นอกจากจะเจอแท็กซี่ใจบุญ เจ้าของร้านค้าใจบุญ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่ชาวพุทธควรหยิบยกมาเป็นเรื่องใหญ่ เพราะวินัยข้อนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาลนู้น สมัยนั้นพระยังเดินอยู่ตามถ้ำ ตามเขา ตามป่า ไม่มีกุฏิอยู่ ปัจจุบันมีกุฏิอยู่แล้ว พระพุทธองค์ท่านก็เคยตรัสไว้ว่า ข้อบัญญัติเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยบัญญัติไว้ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป จะยกเลิกเสียบ้างก็ได้”

แต่ถึงอย่างนั้น พระภิกษุก็ควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อาจารย์คมกฤชแสดงความคิดเห็นเอาไว้ “ผมเองก็ไม่ได้ล้าหลัง บอกว่าพระต้องไม่ใช้เงินเลย โลกเปลี่ยนไป พระต้องดูแลเรื่องเงินทองด้วยตัวเอง ก็ต้องมาคิดว่าทำยังไงเพื่อไม่ให้เงินทองตกเป็นของตัวเอง แต่ทำยังไงที่พระจะจัดการกับเงินนั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น การไม่ถือเงินเป็นส่วนตัวและมีบัญชีของวัด มีกรรมการดูแลอย่างชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่ได้เงินมาต้องเอาเข้าส่วนกลาง ผมว่าต้องสร้างระบบให้ดี

แต่ทุกวันนี้ ผมว่ามันไม่ใช่ระบบที่รวมเงินมาอยู่ตรงกลางอีกแล้ว กลายเป็นว่าพระองค์ไหนรับเงิน เงินก็ไปอยู่กับองค์นั้น เราก็เห็นตัวอย่างชัดเจนดีหลายเคส คงไม่ต้องพูดถึงแล้วที่บางรูปมีเงินเป็นหลายร้อยล้านนั่นแหละครับ สุดท้าย เราอาจจะต้องมาย้อนมองดูว่าอุดมคติในทุกๆ ศาสนาคืออะไร ถ้าเรายึดมั่นใจอุดมคติแบบนั้น การประนีประนอมกับทุนนิยมจะลดลง”




เอือม...ภาพ-คลิปหลุดพระ
ข่าวคราวในวงการผ้าเหลือง ทำเอาพุทธศาสนิกชนเสื่อมศรัทธากันไปหลายยก โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียครองเมืองแบบนี้ ยิ่งทำให้มีภาพและคลิปหลุดๆ ของพระภิกษุถูกแฉให้เห็นกันบ่อยขึ้นๆ เล่นเอาหลายคนเอือม บ้างก็ชินชาจนไม่อยากรับรู้ข่าวคาวๆ ที่เกิดขึ้น แต่อาจารย์คมกฤชยังมองเห็นเป็นข้อดี มองว่านี่คือหนทางไปสู่การแก้ปัญหาถ้าตั้งใจจะแก้กันจริงๆ

“ผมว่าดีแล้วนะที่มีคลิปหรืออะไรพวกนี้หลุดออกมา และมีแล้วก็อย่าวางเฉยด้วย ต้องจัดการ จะมามัวรักษาภาพลักษณ์พระพุทธศาสนา ปกปิดความจริงอยู่ มันไม่ได้แล้วครับ รักษาภาพลักษณ์นี่แหละคือการทำลายพุทธศาสนา เพราะสุดท้ายเราก็เป็นการปกปิดอย่างนึง เป็นการตอแหล อันนี้ผมพูดแรงๆ เลยนะ ความตอแหลแบบนี่แหละที่ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยกลายเป็นแบบหน้าไหว้หลังหลอก การไม่พูดแปลว่าไม่มี ทั้งๆ ที่จริงมันมี

เพราะฉะนั้น จะมีคลิปหรือไม่มีมันก็คือความจริง คนจะเสื่อมศรัทธาก็เสื่อมไป ดีด้วยซ้ำ คนจะได้เห็นว่ามันมีปัญหาอยู่ ถ้าเมื่อใดไม่ตระหนักว่ามันเป็นปัญหา และมันน่าจะทำให้คนตระหนักได้ว่าองค์กรพุทธศาสนาในบ้านเรามีปัญหา และเมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ยังมานั่งโม้อยู่ว่าเราเป็นเมืองพุทธนะ ประกาศไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมหาศาลเหลือเกิน

ทุกวันนี้จะมาพึ่งองค์กรเกี่ยวกับพุทธศาสนาให้มาคอยจัดการอย่างเดียว ทำไม่ได้แล้วครับ คนที่จะจัดการกับปัญหาได้จริงๆ คือพุทธศาสนิกชนนะผมว่า จะรอให้อำนาจรัฐไปพิพากษาตัดสินความผิดของสงฆ์อย่างเดียว มันไม่เพียงพอแล้วสำหรับโลกยุคใหม่ การที่มีคลิปออกมา ทางองค์กรก็ควรจะเปิดตารับข่าวสารและสืบหาความจริงดู ไม่ใช่ปิดหูปิดตา ฉันไม่สน

ส่วนชาวพุทธที่จิตใจห่อเหี่ยวต่อพฤติกรรมน่าละอายของสงฆ์นั้น หัวหน้าวินยาธิการ วัดแก้วฟ้าจุฬามณีแนะนำว่าให้ทำใจยอมรับ
“ถ้าเราทำใจยอมรับตรงนี้และแยกประเด็นให้ถูกว่ามันเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องของบุคคลคนนั้นที่จะละเลยให้ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย เหมือนคนทำผิดกฎหมายนั่นแหละ ประเทศไทยมีคน 60 กว่าล้านคน ทำผิดสักหลักพันหลักหมื่น มันก็เท่านั้นเอง
อย่าไปคิดว่าทำไมพระเดี๋ยวนี้เสื่อม คนสมัยนี้แย่ มันเป็นเรื่องปัจเจก พระเรามี 3 แสนกว่ารูป พระที่ทำผิดจริงๆ มีข่าวแต่ละปีไม่เกิน 10 รูป พระที่ดีๆ ก็ไม่ค่อยมีข่าวคราวอะไร ในโลกของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน ล้วนมีทั้งคนดีและคนชั่วสลับกันไป ถ้ามีคนดีอย่างเดียวหรือชั่วอย่างเดียว โลกก็อยู่ไม่ได้ มันต้องมีสองสิ่งคู่กันอยู่แล้ว

ปัญหาเกี่ยวกับสงฆ์ที่เกิดขึ้นก็มีหลากหลาย แต่ประเด็นหลักที่เป็นปัญหา แก้ไขกันทุกวัน เจอกันบ่อยๆ ก็คือเรื่องบิณฑบาตนี่แหละ เพราะพระต้องบิณฑบาตทุกวัน แต่ไอ้คนที่มาก่อปัญหา ส่วนใหญ่มันไม่ใช่พระหรอกโยม มันเป็นคนธรรมดาโกนหัวเอาผ้ามาห่ม ที่คนเรียกว่าพระปลอม แต่อาตมาใช้คำว่าคนห่มเหลือง คนปลอมมาเป็นพระ แต่คนทั่วไปก็แยกออกจากพระจริงๆ ยาก ตรงนี้แหละที่เป็นช่องให้เขาฉวยโอกาสตรงนี้ทำมาหากิน

อยากจะบอกโยมว่า เรื่องของธรรมะ เรื่องของคำสั่งสอนนั้น ไม่ได้เสื่อม ศาสนาก็ไม่ได้เสื่อม ที่เสื่อมคือตัวบุคคลที่ไม่ยอมรับเอาหลักธรรมมาประพฤติปฏิบัติ ตัวของท่านก็เสื่อมเอง ขอให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้และแยกประเด็นให้ถูก อย่าไปคิดว่าศาสนาเสื่อม ศาสนาไม่เสื่อมหรอก ศาสนาก็ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่เหมือนเดิม เป็นอกาลิโก เมื่อใดใครประพฤติถูกต้องชอบธรรม ก็จะได้รับผลตามที่ปฏิบัติ ใครละเลย-ไม่ปฏิบัติ ก็จะได้รับโทษเช่นเดียวกัน”



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


กำลังโหลดความคิดเห็น