นครปฐม - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน แถลงผลการผลิต “ก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ” สำเร็จ
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้มีการจัดงานแถลงข่าวผลการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่ชุมชน เรื่อง “การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ” โดยอาจารย์ ดร.อนามัย ดำเนตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและวิเทศน์สัมพันธ์ เปิดเผยว่า บุคลากรของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ศวท.) นำทีมโดย รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา ได้ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อชุมชน เรื่อง “การผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ” ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้แก่ รศ.จิตราภรณ์ ธวัชพันธุ์ สาขาพฤกษศาสตร์ สายวิชาวิทยาศาสตร์ คุณขวัญชัย นิ่มอนันต์ โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา และคุณกิตติเดช โพธิ์นิยม วิศวกรประจำศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน
รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนที่สนใจแล้ว เนื่องมาจากปัจจุบันการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ ทางชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยเฉพาะการนำจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ มาช่วยในกิจกรรมทางชีวภาพ นอกจากนี้ หากจุลินทรีย์ที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีประโยชน์นั้น มีแหล่งที่มาจากตามธรรมชาติ ไม่ได้มาจากการตัดต่อทางพันธุกรรม หรือเป็น GMOs จะยิ่งก่อให้เกิดความสบายใจ ลดความขัดแย้ง และกังวลในการนำไปใช้กับสภาวะทั่วๆ ไป หรือสิ่งแวดล้อม
ผลงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จในการคัดเลือกจุลินทรีย์ จำนวน 2 สายพันธุ์ ที่เก็บจากแหล่งธรรมชาติ สามารถย่อยสลายเส้นใยผักตบชวา โดยระบบเอนไซม์ของจุลินทรีย์ เกิดผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับครัวเรือน และชุมชนขนาดเล็ก เช่น ใช้หุงต้ม ใช้เป็นเชื้อเพลิงอุปกรณ์การเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น
ประโยชน์ที่จะได้รับของงานวิจัยครั้งนี้ คือ วิธีการกำจัดผักตบชวา วัชพืชน้ำอันก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญให้เกิดผลผลิตมีประโยชน์ คือ ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน หรือชุมชนขนาดเล็ก ส่วนกากผักตบชวาที่ผ่านการย่อยสลายแล้วสามารถใช้เป็นวัสดุกักเก็บความชื้น และช่วยบำรุงดินได้ ขั้นตอนการผลิตก๊าซชีวภาพจากผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ ทำได้โดยผสมจุลินทรีย์ธรรมชาติ จำนวน 2 สายพันธุ์ กับกากน้ำตาล น้ำ และผักตบชวา ตามอัตราส่วน บ่มในถังหมักผักตบชวาขนาด 200 ลิตร นาน 20 วัน (สำหรับการบ่มครั้งแรก) เก็บก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่เกิดในถังเก็บก๊าซขนาด 200 ลิตร หรือถังเก็บก๊าซขนาด 1,000 ลิตร (ขนาดขึ้นกับความต้องการของผู้ใช้) ต่อเข้ากับวาล์วปิดเปิดนิรภัย ยังอุปกรณ์/เครื่องมือที่ต้องการใช้ก๊าซชีวภาพ
ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.อนามัย ดำเนตร ประธานในงานแถลงข่าวได้สาธิตการทอดไข่ดาวจากก๊าซที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านทรัพยากรจุลินทรีย์โครงการจัดตั้งสายวิชาจุลชีววิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ 0-3428-1105-6 ต่อ 7653-7654, 08-3559-8448 อีเมล jureerat.c@ku.ac.thFacebook : jureeratku LINE ID : ajmaew ได้ในวัน และเวลาราชการ