xs
xsm
sm
md
lg

รศ.นพ.อัษฏา ตียพันธ์ กับภารกิจแก้ความแออัดในโรงพยาบาลชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.อัษฏา ตียพันธ์  ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลชลบุรี
การเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วของจังหวัดชลบุรี ก่อให้เกิดความเปลี่ยแปลงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความแออัดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากแรงงานต่างถิ่นที่ย้ายตามภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ที่สำคัญการเกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมากจากการเป็นเมืองผ่าน และจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นที่มาของความแออัดในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข อย่างโรงพยาบาลชลบุรี ที่ในวันนี้มีอัตราคนไข้นอกเฉลี่ยต่อวันไม่น้อยกว่า 3 ,000 คน ขณะที่จำนวนพยาบาลมีเพียง 600 คน จากขีดความสามารถสูงสุดที่ควรจะมี 1,200 คน

จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของ รศ.นพ.อัษฏา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลชลบุรี ที่ในวันนี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความแออัดต่างๆ ทั้งในส่วนของจำนวนคนไข้และจำนวนรถยนต์ที่ รวมทั้งปัญหาพยาบาลที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

เหตุเพราะ โรงพยาบาลชลบุรี ถือเป็นโรงพยาบาล ตติยภูมิระดับศูนย์ ที่หมายถึง โรงพยาบาลที่ไม่ได้เป็นแค่ โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ยังเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่สามารถรับคนไข้ที่ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาล อื่นๆ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาค ตะวันออกซึ่งปัจจุบันแม้จะมีการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเตียงมากถึง 800 เตียง และมีบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุมในทุกสาขา รวม 180 คน ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนไข้

แม้ โรงพยาบาลชลบุรี จะเร่งพัฒนาด้านเครื่องมือทางการแพทย์และการรักษาให้ทันสมัย แต่จำนวนพยาบาลที่มีเพียง 600 คน ถือว่าเป็นอุปสรรคและสวนทางกับความเป็นจริงของ โรงพยาบาลใหญ่ระดับศูนย์ ที่จะต้องมีจำนวนพยาบาลไม่น้อยกว่า 1.1-1.2 พันคน จึงจะเพียงพอ เป็นที่มาของข้อร้องเรียนต่างๆ โดยเฉพาะงานบริการที่ไม่ทั่วถึงและไม่ดีพอ

“ การแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามูลนิธิ โรงพยาบาลชลบุรี จะได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะเรียนพยาบาล เพื่อส่งเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีชลบุรี ที่เปิดอยู่ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลของเรา แต่เนื่องเพราะวิทยาลัยพยาบาลไม่ใช่ของเรา ดังนั้นบุคลากรที่ผลิตได้ในแต่ละปีกว่า 200 คนจึงไม่ถูกส่งมาที่เราทั้งหมด แต่จะถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ปัญหาอีกประการคือ การบรรจุพยาบาลเข้าเป็นข้าราชการของรัฐที่ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งปัญหาการทำงานหนักที่สวนทางกับรายได้ ทำให้พยาบาลจำนวนมากหนีไปทำงานกับเอกชน”
ไม่ว่าจะพยายามแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งสร้างอาคารเพิ่ม จัดสถานที่จอดรถให้บุคลากร ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่า จะไม่พอที่รองรับการเติบโตของโรงพยาบาลแห่งนี้ได้
แต่ในวันนี้ปัญหาเหล่านี้กำลังได้รับการแก้ไข จากนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้ โรงพยาบาลต่างๆ เปิดโอกาสให้พยาบาลอัตราจ้าง ได้เข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็เชื่อว่าการได้รับสวัสดิการที่มั่นคงและจะทำให้ปัญหาสมองไหลในกลุ่มพยาบาลวิชาชีพค่อยๆ หมดไป

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของ โรงพยาบาลชลบุรี ก็คือสภาพความแออัดทั้งด้านสถานที่ในการรักษาพยาบาลและที่จอดรถ ซึ่งแต่เดิมโรงพยาบาลชลบุรี มีเนื้อที่รวมประมาณ 70 ไร่ แต่ก็ได้ใช้เงินของมูลนิธิ โรงพยาบาลชลบุรี ที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในการจัดซื้อที่ดินด้านหลังเพิ่มจนมีพื้นที่รวม ประมาณ 80 ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งจะใช้ในการก่อสร้างที่พักให้กับพยาบาลและแพทย์ที่ต้องอยู่เวร และทำงานดึก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากร อีกส่วนจะใช้ในการจัดสร้างอาคารอุบัติเหตุ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมืองและจำนวนรถยนต์

“เนื่องจากตึกอุบัติเหตุเดิมอยู่ด้านในทำให้เมื่อมีคนไข้เข้ามา ต้องนำรถยนต์มาจอดที่อาคารด้านหลังพระรูป (พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย) ซึ่งก็อาจทำให้การรักษาไม่ทันเวลา ดังนั้นหากมีอาคารอุบัติเหตุอยู่ติดถนนจะทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต และสามารถตอบโจทย์ปัญหาอุบัติภัยต่างๆ ที่มีมากในจังหวัดโดยเฉพาะช่วงเทศกาล ซึ่งขณะนี้ โรงพยาบาลได้จัดสร้างอาคารอุบัติเหตุขนาด 6 ชั้นภายใต้งบ 122 ล้านบาท ไม่รวมค่าจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเราจะใช้งบของมูลนิธิ โรงพยาบาลชลบุรีส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่ง เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ทำบุญร่วมกัน”

นอกจากนั้นปัญหาที่จอดรถ ก็ถือเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลของโรงพยาบาล เพราะแม้จะมีการจัดสร้างอาคารจอดรถขนาด 7 ชั้นบริเวณด้านหลังแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมีฐานะดี โดยคนไข้ 1 คนที่เข้ารับการรักษาจะมีรถยนต์1 คัน ไม่นับรวมรถยนต์คนไข้นอนและรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ ที่สคัญยังมีพนักงานบริษัทอื่นๆ อีกจำนวนมากที่เห็น โรงพยาบาลเป็นที่จอดรถ และพากันนำรถยนต์มาจอดทิ้งไว้ก่อนนั่งรถบริษัทไปทำงาน

“แม้ โรงพยาบาลจะจัดที่จอดรถเพิ่มอีกเป็น 100 ไร่ก็คงไม่เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ที่เข้ามา ครั้นหากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะควบคุมเข้มงวดก็ถูกต่อว่าจากเจ้าของรถยนต์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ดังนั้นปัญหานี้จึงถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทำได้แต่เพียงขอความร่วมมือจากผู้ใช้รถยนต์ให้เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ”

โรงพยาบาลชลบุรีในวันนี้ นอกจากจะเป็น โรงพยาบาลศูนย์แห่งความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับรองคุณภาพ HA ( Hospital accreditation การรับรองคุณภาพสถานพยาบาลโดยเฉพาะ) จาก สรพ. หรือ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ( องค์การมหาชน ) แล้วในอนาคตอันใกล้ โรงพยาบาลแห่งนี้กำลังจะได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International หรือการรับรองด้านคุณภาพและงานบริการมาตรฐานสากล)

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความแออัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน โรงพยาบาลจึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ ผอ.คนปัจจุบัน จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการ ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้มีรายได้น้อยได้รับงานบริการที่รวดเร็วและทั่วถึง....
กำลังโหลดความคิดเห็น