xs
xsm
sm
md
lg

จ.อุดรธานีรณรงค์เกษตรใช้น้ำปลูกพืชหน้าแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การใช้น้ำในเขตชลประทาน ตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/57
อุดรธานี - จังหวัดอุดรธานีจัดกิจกรรมรณรงค์การใช้น้ำในเขตชลประทาน ตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/57 หวังรณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานใช้น้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (13 ธ.ค.) นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์การใช้น้ำในเขตชลประทาน ตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/57 โดยมีเกษตรกรบ้านป่อง หมู่ที่ 7 ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายมาลัยวรณ์ ตั้งอรุณสวัสดิ์ นายอำเภอเมืองอุดรธานี กล่าวว่า การใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตรที่ผ่านมา เกษตรกรใช้น้ำไร้ประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ จำเป็นต้องให้เกษตรกรเข้าใจวางแผนการปลูกพืช จึงจัดทำกิจกรรมรณรงค์การใช้น้ำในเขตพื้นที่ชล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรรู้จักวางแผนการปลูกพืช คือ ข้าวนาปรังและพืชอายุสั้นตามพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรรู้จักวางแผนใช้น้ำให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด และให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชและวางแผนหาตลาดจำหน่ายผลผลิต

กิจกรรมในงาน ประกอบด้วยการรณรงค์หว่านข้าวนาปรัง และปล่อยน้ำลงตามคลองต่างๆ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง สำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุดรธานี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุดรธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอุดรธานี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงยืน

สำหรับอำเภอเมืองอุดรธานีมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 456,253 ไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หลังฤดูทำนาปีเกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชอายุสั้น โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งมีความจุน้ำได้ทั้งหมด 135 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งฤดูฝนปี 2556 กักเก็บได้เพียง 91 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแผนจัดสรรน้ำ จะนำไปใช้ทำการเกษตร 30 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรเพื่ออุปโภคบริโภค 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้รักษาระบบนิเวศ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำสูญเสียจากการระเหย น้ำรั่วซึม 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่คงเหลือหลังจากวันที่ 30 เมษายน 2557 น่าจะมีปริมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร อำเภอเมืองอุดรธานี ได้กำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/57 แยกเป็นข้าวนาปรัง จำนวน 5,000 ไร่ พืชอายุสั้น จำนวน 3,000 ไร่ รวมพื้นที่จำนวน 8,000 ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น