xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.วอนประหยัด 2 เขื่อนเหนือน้ำน้อย-ฝนทิ้งช่วง อาจวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ออกโรงย้ำให้ประชาชน และเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำประหยัด หลังเขื่อนหลักภูมิพล-สิริกิติ์น้ำน้อยลง หลังระบายรวมวันละ 40 ล้าน ลบ.ม.จะใช้ได้เพียงพอ เม.ย.นี้ หากเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงอาจวิกฤตภัยแล้ง รับล่าสุดระบายน้ำเกินแผนแล้วกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. หลังปลูกนาปรังยังมีเพิ่ม

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคเหนือ คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ อย่างใกล้ชิด และให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำร่วมกับกรมชลประทานซึ่ง 2 เขื่อนได้เริ่มลดระบายน้ำลงตั้งแต่เดือน ก.พ.เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากล่าสุดน้ำทั้งสองเขื่อนมีน้อย โดยวันที่ 16 ก.พ.มีรวมกันอยู่ประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) มีการระบายเฉลี่ยรวมกันวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากระบายตามแผนนี้จะใช้ได้เพียงพอในฤดูแล้งหรือสิ้น เม.ย. 57 และที่เหลือจะสำรองไว้เผื่อกรณีสภาวะฝนทิ้งช่วง

“ถ้าดูปริมาณน้ำก็น่าจะใช้ได้ 3 เดือน แต่ต้องบริหารการปล่อยน้ำให้ได้ตามนี้ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่ามากกว่าแผนด้วยซ้ำ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด ขณะที่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวทางกรมชลประทานได้ประชาสัมพันธ์แล้วว่าไม่ควรจะปลูกข้าวนาปรังโดยให้เลือกปลูกพืชอายุสั้นแทน ซึ่งยอมรับว่าถ้าการระบายน้ำมากไปกว่านี้ก็เสี่ยงมากถ้าฝนมาล่าช้าในช่วง พ.ค.” นายณัฐจพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในเขื่อนเพียง 47.45% ของความจุ ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่าง 53.07% ของความจุซึ่งเป็นปริมาณที่ลดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ในอดีตปริมาณน้ำขณะนี้ของเขื่อนภูมิพลน้ำน้อยเป็นอันดับที่ 6 จากอดีตที่ผ่านมา โดยน้ำต่ำสุดเป็นปี 2537 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ต่ำสุดเป็นอันดับที่ 11 โดยปีที่ต่ำยังคงเป็นปี 2537

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานกล่าวว่า ยอมรับว่าการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะข้าวนาปรังในเขตและนอกเขตชลประทานมีพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่าแผนที่กำหนด ทำให้มีการใช้น้ำจากทั้งสองเขื่อนตั้งแต่ต้นฤดูแล้งถึงขณะนี้มากกว่าแผนแล้วกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มว่าความต้องการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้งจะมากกว่าแผนเดิมประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั้งสองสิ้นเดือน เม.ย. 57 ลดลงจากที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น โดยเขื่อนภูมิพลจะเหลือปริมาตรน้ำในอ่างอยู่ที่ 42% จากเดิมต้องอยู่ที่ 45% และสิริกิติ์เหลือ 47% ของความจุ จากเดิมจะเหลือ 52%

“น้ำในเขื่อนที่ใช้ได้ 2 เขื่อนรวมกันอยู่ระดับ 4,800 ล้าน ลบ.ม.นั้น เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ปี 2547-2556 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยที่สุดใกล้เคียงกับปี 2553 และปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ลุ่มเจ้าพระยาประสบปัญหาภัยแล้ง” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น