อุบลราชธานี - ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านปากมูลจำนวน 30 คน บุกเวทีรับฟังความเห็นการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขน้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเวที เพราะไม่เคยถามความต้องการชาวบ้านก่อนโยนโครงการลงมา สร้างปัญหาให้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะผู้ว่าราชจังหวัดระบุ เป็นเมืองปลายน้ำของ 2 ลำน้ำใหญ่จำเป็นต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้(23พ.ย.)ที่ห้องทับทิมสยาม โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นางสมปอง เวียงจันทร์ พร้อมตัวแทนชาวบ้านเขื่อนปากมูลจำนวน 30 คน ได้รวมตัวแสดงการคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี เพราะชาวบ้านไม่เคยมีส่วนรวมในการออกแบบอย่างจริงจัง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ผู้จัดเวทีรับฟังความเห็นไม่อนุญาตให้ชาวบ้านทั้งหมดเข้าไปในห้องประชุม โดยแจ้งว่าต้องเป็นผู้มีรายชื่อที่คณะกรรมการได้คัดเลือกไว้แล้ว แต่ยินยอมให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังได้เพียง 4 คน จึงเกิดต่อรองจะขอเข้าไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งเป็นผู้จัดเวที
แต่นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดจะขอเป็นผู้รับหนังสือของชาวบ้านอง แต่ชาวบ้านไม่ยอม กระทั่งต้องให้ รศ.ดร.สุขุม ลงจากเวทีมารับและบอกให้ชาวบ้านอยู่ร่วมฟังการนำเสนอวิธีแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลกำลังมีโครงการ แต่ชาวบ้านไม่สนใจได้พากันเดินออกจากห้องประชุมไป
นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านระบุว่า ที่มายื่นหนังสือ เพราะต้องการให้รัฐบาลมารับฟังความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ต้องการอะไรก่อนจะเอาโครงการมาลง ไม่ใช่จัดทำโครงการเสร็จแล้ว จึงมาถามความเห็นประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะการทำดังกล่าวมีแต่สร้างปัญหาให้กับพื้นที่ ชาวบ้านปากมูลจึงไม่เห็นด้วยกับการจัดเวทีรับฟังความเห็นในวันนี้ เนื่องจากมีตัวอย่างที่เห็นชัดคือเขื่อนปากมูล ปัจจุบันยังแก้ปัญหาเก่าไม่ได้ แต่จะเอาปัญหาใหม่มาให้พื้นที่อีก
ด้านนายวันชัย สุทธิวรชัย ผวจ.กล่าวถึงการจัดเวทีรับฟังความเห็นวันนี้ เพราะต้องการเสนอปัญหาของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลปลายน้ำของ 2 ลำน้ำสำคัญคือ แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ทำทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จึงรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการมาใช้แก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน
พร้อมปฏิเสธว่าปัจจุบันจังหวัดยังไม่มีการเสนอโครงการใดไปยังรัฐบาล เพราะการแก้ไขปัญหาทั้งระบบของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ต้องเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการ
สำหรับการจัดเวทีรับฟังความเห็นที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวทีที่นอกเหนือจาก 36 เวทีที่รัฐบาลมีโครงการใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามโครงการ 3.5 แสนล้านบาท แต่จังหวัดสามารถจัดเวทีเสนอเป็นปัญหาเข้าไปร่วมอยู่ในโครงการ เพื่อขอรับงบประมาณมาใช้ดำเนินการแก้ไขในภายหลังได้
ส่วนข้อเสนอของการจัดเวทีครั้งนี้ ชาวบ้านยังไม่ทราบว่ารัฐจะมีการจัดโครงการแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นเพียงเสนอปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาฤดูแล้งขาดน้ำใช้ทำเกษตรกรรม ส่วนฤดูน้ำก็ถูกน้ำท่วมผลผลิต จึงเห็นด้วยที่รัฐจะมีโครงการมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 200 คน