xs
xsm
sm
md
lg

อำเภอนาหว้าสร้างหมู่บ้านต้นแบบทำนาโบราณ ลดต้นทุนหนุนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - อำเภอนาหว้าสร้างหมู่บ้านต้นแบบ ย้อนวิถีชีวิตชาวนา ลดค่าใช้จ่าย สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ชูวิถีชาวนา หนุนเที่ยวเชิงอนุรักษ์

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล นายอำเภอนาหว้า จ.นครพนม พร้อมด้วย นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ร่วมเปิดโครงการหมู่บ้านต้นแบบนำร่องสืบสานประเพณีทำนาแบบโบราณลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการหมู่บ้านธนาคารโคกระบือ ตามแนวพระราชดำริ เน้นให้ประชาชนยึดถือวิถีชีวิตการทำนาแบบโบราณ ตั้งแต่ต้นฤดูกาลทำนาด้วยการ หันมาใช้ควายไถนา จนถึงสืบสานปะเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นการลดต้นทุนในการทำนา

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงานแพง รวมถึงค่าน้ำในการใช้เครื่องจักรไถนาแพง จึงต้องรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำนาตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

กิจกรรมในงานจะมีการร่วมกันสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว รวมถึงการสาธิตวิถีชีวิตการทำนาแบบโบราณ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การมัดฟ่อนข้าว และการขนย้ายด้วยการหาบ ไม่ต้องใช้เครื่องจักกล ไปถึงการสาธิตการนวดข้าวจากแรงงานคน หรือการตีข้าว ภายในลานดิน พร้อมจัดสาธิตการใช้ขี้ควายนำมาทำเป็นลานตีข้าว ที่ชาวบ้านเรียกกันว้า ขี้ทาลาน เป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำนา

นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำนาแบบโบราณ ของชาวบ้านในอดีต ให้ประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้ โดยในอนาคตอำเภอนาหว้าร่วมกับปศุสัตว์อำเภอนาหว้า หน่วยงานเกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชนจะมีการต่อยอดพัฒนาให้ บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นหมู่บ้านต้นแบบ ยึดวิถีการทำนาแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแหล่งศึกษาเที่ยวชม วิถีการทำนา รวมถึงหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไถนา พัฒนาเป็นแหล่งเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต

นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล นายอำเภอนาหว้า จ.นครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าปัญหาค่าใช้จ่าย ถือเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร โดยเฉพาะอาชีพทำนามีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน

ดังนั้น อำเภอนาหว้าจึงไดร่วมกับทุกภาคส่วน ระดมความร่วมมือสร้างหมู่บ้านต้นแบบ คือ บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ที่มีการโครงการหมู่บ้านธนาคารโคกระบือ ตามแนวพระราชดำริ อยู่แล้ว นำร่องเป็นหมู่บ้านต้นแบบใช้วิธีการทำนาแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เริ่มต้นการปักดำที่เน้นใช้ควายไถนา การลงแขกดำนา การทำนาโยน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มาจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ด้วยการลงแขกเกี่ยวข้าว การเก็บผลผลิตจากแรงงานคน งดการใช้เครื่องจักรกล

รวมถึงการยึดถือเอาวิถีชีวิตชาวนาแบบโบราณ มาลดต้นทุนการผลิต ในการนวดข้าว การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำลานตีข้าว ตากข้าว จากมูลสัตว์ ขี้ควาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์ หรือค่าจ้าง ที่จะเกิดผลดีต่อเกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะมีการต่อยอดขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังจะได้พัฒนาในเรื่องของโครงการหมู่บ้านธนาคารโคกระบือ ตามแนวพระราชดำริ โดยในพื้นที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม มีมากถึง 20 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีโคกระบือมากกว่า 3,000 ตัว และจะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำนา ตั้งหมู่บ้านฝึกหัดควายไถนา ไปจนถึงหมู่บ้านต้นแบบ ในการทำนาแบบวิถีชีวิตชาวนาโบราณ ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้

ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้มาศึกษาเที่ยวชม ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ยังจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ของ อ.นาหว้า ให้คึกคักมากขึ้น

นายสามารถ ดาวเศษ สัตวแพทย์ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาหว้า จ.นครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการหมู่บ้านธนาคารโคกระบือ ตามแนวพระราชดำริ ของ อ.นาหว้า ถือว่า ประสบความสำเร็จ เกษตรกรได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 170 ราย พร้อมมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้นำโคกระบือในโครงการไปใช้ในการเกษตร เป็นการลดต้นทุนการผลิต

รวมถึงจะมีการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการตั้งศูนย์เรียนรู้ในหมู่บ้าน เป็นแหล่งศึกษา เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนาในอดีต เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ด้วยการนำวิถีชาวนามาลดต้นทุนการผลิต ทั้งแต่การปักดำไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และในอนาคตจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกี่ยวกับกิจกรรม การฝึกหัดควายไถนา หรือใช้เทียมเกวียน

การแสดงสาธิตภูมิปัญญาชาวบ้าน วิถีชาวนา การนวดข้าวตีข้าวจากแรงงานคน การหาบข้าว มัดข้าว เก็บข้าว การใช้มูลสัตว์ขี้วัวควาย ทาลานข้าว ที่จะเป็นการสืบสานอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านี้ จะเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

ด้าน นางสุจิตรรา นาโควงศ์ อายุ 51 ปี เลขานุการกลุ่มสมาชิกโครงการธนาคารโคกระบือ เพื่อการเกษตร ตามพระราชดำริ อ.นาหว้า จ.นครพนม กล่าวว่า ปัจจุบันยอมรับว่าวิถีชีวิตชาวนาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก สมัยก่อนในการทำนาจะมีแต่การใช้แรงงาน และการออกแรงช่วยกันของคนในหมู่บ้าน ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย

แต่ปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่าย จากปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ จนค่าแจ้งแรงงานทำนา ตกวันละ 400 -500 บาท เป็นปัญหาทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน เกิดภาระหนี้สิน เมื่อนำผลผลิตข้าวไปขายในราคาต่ำ ทำให้ขาดทุน

ดังนั้น ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกจึงได้มีการหารือร่วมกันจัดทำโครงการสืบสานประเพณีวิถีชาวนาดั้งเดิมขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการร่วมกันลงแขกตั้งแต่การปักดำนา จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีการออกแรงช่วยเหลือกันไปในหมู่บ้าน ไม่ต้องเสียภาระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนได้เป็นอย่างมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เสียเพียงค่าอาหารเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความสามัคคี ทำให้ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจ โดยจะร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป และให้ผู้สนใจหรือลูกหลานเยาวชนได้ศึกษา เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนาที่กำลังจะถูกลืม
กำลังโหลดความคิดเห็น