พัทลุง - เกษตรกรเลี้ยงควายในพื้นที่ของป่าพรุทะเลน้อย และพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน ที่มีอยู่ประมาณ 100 คอก เกือบ 5,000 ตัว สร้างรายได้งามแก่เกษตรกร โดยราคาสูงถึงตัวละ 3-4 หมื่นบาท โดยตลาดอยู่ที่ 3 จชต. และจังหวัดฝั่งอันดามัน
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า ควายในป่าพรุแถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาประกอบด้วย ต.พนางตุง ต.ทะเลน้อย จ.พัทลุง ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา และ ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 100 คอก เกือบ 5,000 ตัว เป็นควายเลี้ยงปล่อยแบบเช้าไป-เย็นกลับ อาศัย และหากินอยู่ในป่าพรุ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย และในทะเลสาบสงขลาตอนบน ทำให้ผู้คนเข้าใจว่าควายแถบนี้เป็นควายน้ำ และเรียกว่าควายทะเล
“ควาย” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความใกล้ชิดกับงานเกษตรกรรมของคนไทย และประเทศในแถบเอเชียมากที่สุด ชาวนาในอดีตนิยมเลี้ยงควายไว้ใช้แรงงาน เช่น ใช้ไถนา เวียนนา นวดข้าว และกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ บางท้องถิ่นในประเทศไทยใช้ควายในกิจกรรมสันทนาการ เช่น ที่ชลบุรี มีประเพณีการวิ่งควาย ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกีฬาชนควาย และในหลายท้องถิ่นนิยมใช้เนื้อควายเป็นอาหาร จึงนับได้ว่าคนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากควายได้หลายประการ ปัจจุบัน มีการใช้แรงงานจากควายน้อยลง เพราะนิยมใช้เครื่องจักร หรือรถไถนาแทน บทบาทของควายจึงเหลือเพียงการเสริมรายได้ในครัวเรือนจากการขายเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารเท่านั้น
“ควายปลัก” เป็นควายที่นิยมเลี้ยงกันในประเทศแถบเอเชีย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า และลาว เลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานในไร่นาเป็นหลัก และเมื่อควายมีอายุมากขึ้นก็จะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร เป็นรายได้อีกทางหนึ่งของเกษตรกร
นายวิชิต บัวแดง อายุ 60 ปี เจ้าของควายในทุ่งหญ้าพรุเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กล่าวว่า ควายที่เลี้ยงกันในทุ่งพรุทะเลน้อยเป็นชนิดควายปลัก เลี้ยงสืบทอดติดต่อกันมา 3-4 ชั่วอายุคน เป็นเวลานานร่วม 100 กว่าปี วิถีการเลี้ยงนิยมเลี้ยงเป็นฝูงปล่อยทุ่ง และมีคอกสำหรับให้ควายพักผ่อนหลังจากกลับจากกินหญ้า โดยเฉพาะยามค่ำคืน ควายฝูงหนึ่งๆ จะมีควายที่ทำหน้าที่คุมฝูง 1 ตัว เจ้าของควายจะเปิดคอกปล่อยควายออกกินหญ้าเวลาเช้าประมาณ 09.00 น. ควายจะกลับเข้าคอกเองในตอนเย็นเวลาประมาณ 15.00-16.00 น. เป็นเช่นนี้ทุกวัน คอกควายจะถูกสร้างขึ้นกลางทุ่งด้วยการขุดดินถมที่ให้สูงขึ้นในหน้าแล้งก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อให้ควายสามารถนอนพักได้ และหากเป็นปีที่น้ำท่วมหนัก ระดับน้ำสูงมาก ควายออกหากินกลางทุ่งไม่ได้ เจ้าของควายก็จะไปหาหญ้ามาให้ควายกินในคอก ควายจะกินหญ้าแทบทุกชนิดที่อยู่ในทุ่งหญ้า และป่าพรุ เช่น หญ้าข้าวผี หญ้าครุน หญ้าปล้อง จูดหนู เป็นต้น ในบางปีที่น้ำท่วมหนัก ระดับน้ำในทุ่งหญ้าท่วมสูงมากจนหญ้าจมมิดอยู่ใต้น้ำ แต่ควายก็สามารถดำน้ำลงกินหญ้าที่จมอยู่ใต้น้ำได้ ปัจจุบันการเลี้ยงควายที่นี่เป็นการเลี้ยงเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว เป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่ง บางรายเลี้ยงควายหลายตัว สามารถขายควายส่งลูกให้เรียนหนังสือจนสำเร็จระดับปริญญาได้
โดยเจ้าของควายนิยมขาย ได้แก่ ควายตัวผู้ ซึ่งในฝูงหนึ่งๆ เจ้าของจะขายควายตัวผู้ ให้เหลือไว้เพียงตัวเดียวสำหรับไว้คุมฝูง และผสมพันธุ์ ขายควายตัวเมียที่รูปร่างไม่ดี ขายควายแก่ที่ปลดระวาง ควายเหล่านี้ขายเพื่อใช้เนื้อเป็นอาหารเลี้ยงแขกในงานศพบ้าง ขายเพื่อชำแหละเนื้อขึ้นเขียง โดยอาจปนกับเนื้อวัวบ้าง ตลาดซื้อขายควายส่วนใหญ่จะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แถบจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันได้แก่ จ.พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และภูเก็ต โดยที่ผู้ซื้อจะมาซื้อถึงทุ่งที่เลี้ยง ราคาการซื้อขายควายที่นี่ในปัจจุบันมีราคาที่สูงเท่ากับราคาวัว โดยควายรุ่นที่อายุ 1 ปี ตัวละประมาณ 15,000-16,000 บาท ควายที่อายุ 2-3 ปี จะผลัดฟัน ควายรุ่นนี้เป็นที่นิยมของชาวไทยมุสลิม จะซื้อขายกันในราคาที่แพงถึงตัวละ 30,000-40,000 บาทเลยทีเดียว