จันทบุรี - ชาวนาในจังหวัดจันทบุรี ใช้ถังฟาดข้าวแบบโบราณ หวังอนุรักษ์สืบสานวิถีชีวิตแบบไทย เพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูหลังเริ่มเลือนหายไป
นายว่อง สายทอง อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่สมัยโบราณวิธีการฟาดข้าวคือ การนำข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วมาฟาด หรือนวดแบบโบราณ โดยการฟาดข้าวจะต้องมีอุปกรณ์ หรือถังที่ใช้สำหรับฟาดข้าว
ลักษณะของถังฟาดข้าวโบราณเป็นถังขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้เป็นรูปวงรี กว้าง 2 ศอก ยาว 3-4 ศอก สูงประมาณ 2 ศอก ประกอบด้วยบันไดฟาดข้าววางตามความยาวของถัง และมีเสื่อลำแพนตั้งไว้เพื่อป้องกันข้าวเปลือกกระเด็นออกมาจากถัง แต่ในปัจจุบัน ได้มีการนำตาข่ายผ้าเขียวมาประยุกต์ใช้เพื่อความสะดวดสบายมากขึ้น
นอกจากนี้ ถังฟาดข้าวแบบโบราณยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ สามารถลากไปตามพื้นนาชื้นๆได้ ถังฟาดข้าวแบบโบราณนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของบรรพบุรุษไทยสมัยก่อน โดยส่วนมากจะใช้ฟาดข้าวเหนียว และข้าวเบาเพราะข้าวในสมัยนั้นมีจำนวนน้อยไม่พอที่จะนวดบนลานนวดข้าว หรือนำไปสีที่โรงสีข้าว และเมื่อสิ้นสุดฤดูทำนาแล้วถังฟาดข้าวแบบโบราณนี้ยังนำมาทำเป็นที่เก็บข้าวเปลือกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นายว่องยังบอกอีกว่า ปัจจุบัน มีการใช้รถเกี่ยวข้าวมาแทน ซึ่งกระบวนการของรถเกี่ยวข้าวก็จะมีการฝัดข้าวอยู่ในตัวเองด้วย ซึ่งวิธีการใช้รถเกี่ยวข้าวดังกล่าวเป็นการลดขั้นตอน และยังสร้างความสะดวกสบายกว่าเดิมให้แก่คนในปัจจุบัน ฉะนั้นแล้ววิถีตนเองจึงอยากที่จะอนุรักษ์วิธีการฟาดข้าวแบบโบราณนี้ไว้เพื่อเก็บรักษาให้เยาวชนคนรุ่นหลัง และลูกหลานได้ศึกษาต่อไป เพราะชีวิตการฟาดข้าวแบบโบราณนับวันมีแต่จะเลือนหายไปจากคนไทยแล้ว