xs
xsm
sm
md
lg

ชาวร้อยเอ็ดค้านโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน - จี้แก้ปัญหาเก่าโขงชีมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมรรัตน์  วิเศษหวาน  ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด  เขื่อนยโสธร-พนมไพร อำเภอทุ่งเขาหลวง  ยืนหนังสือคัดค้านเวทีการรับฟังความคิดเห็น  ต่อนายพิทยา กุดหอม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด-ชาวลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด ค้านการเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ซ้ำรับผลกระทบเพิ่ม จวกซ้ำปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ปัญหาใหม่จะเข้ามาทับถมเพิ่ม ชี้แค่เวทีปาหี่ต้องการประทับตราให้โครงการฯ สะท้อนการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่ผ่านมาล้มเหลว โดยเฉพาะโครงการโขงชีมูล

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องพลาญชัย โรงแรมร้อยเอ็ดซิตี้ จ.ร้อยเอ็ด คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของประชาชนในพื้นที่ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง

โดยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ทั้งนี้ผู้ เข้าร่วมมีทั้งพระสงฆ์ หน่วยงานราชการ นายก อบต. นายกเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ประมาณ 200 กว่าคน และมีชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพรกว่า 50 คนเข้าร่วมด้วย

นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ประธานในการเปิดเวทีฯ กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อมีโครงการพัฒนา ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะนำเสนอความคิดเห็นของประชาชนนำไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ที่เกิดขึ้นในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้รัฐบาลมีโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม จังหวัดร้อยเอ็ด ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจังหวัดที่ต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการที่มีอยู่ในจังหวัดชัยภูมิที่จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะเป็นสายน้ำชีเดียวกัน แม้จะได้รับผลกระทบไม่มากก็ตาม แต่ต้องมารับฟังความคิดเห็นประชาชน

หลังจากนั้นได้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งนางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร อ.ทุ่งเขาหลวง กล่าวว่า หลังจากดูวิดีทัศน์แล้วไม่เห็นว่าจะมีโครงการที่จังหวัดร้อยเอ็ดเลย แล้วคนร้อยเอ็ดจะได้อะไรจากโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้าน มีแต่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งชัดเจนว่า โครงการพัฒนาโดยเฉพาะโครงการโขง-ชี-มูล ที่มีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน น้ำท่วม นาน 3-4 เดือนเป็นเวลา 12 ปี ข้าวนาปีไม่เคยได้กินตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนมา ไม่มีการเยียวยาชดเชย

“ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหม่ก็จะเข้ามาทับถม เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ปัญหา วันนี้จึงขอยื่นหนังสือเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” นางอมรรัตน์กล่าว

หลังจากนั้น นางอมรรัตน์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร อำเภอทุ่งเขาหลวง ได้มีการยืนหนังสือคัดค้านเวทีการรับฟังความคิดเห็น ต่อนายพิทยา กุดหอม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่าตนมีข้อสังเกตต่อเวทีรับฟังความคิดเห็นดังนี้ คือ 1. ดูวิดีทัศน์แล้วไม่มีโครงการในจังหวัดร้อยเอ็ด 2. อ่านเอกสารประกอบแล้วก็ไม่มีแผนโครงการในจังหวัดร้อยเอ็ด 3. พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดได้อะไร ในภาคอีสานมีโครงการ 2 จังหวัด คือ ชัยภูมิ และสกลนคร

ในส่วนของโครงการในจังหวัดชัยภูมิ สิ่งที่คนร้อยเอ็ดจะได้ คงจะเป็นสิ่งที่หลายคนวิตกมากกว่า ประการแรก ถ้ามีการสร้างเขื่อนชีบน และเขื่อนยางนาดีตามโมดูล B1, B2 จะทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากอาจจะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรนานกว่าเดิมทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย เนื่องจากบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ช่วงกลางน้ำถึงท้ายน้ำเป็นพื้นที่ทามน้ำท่วมถึงแต่ลักษณะน้ำท่วมจะท่วมไม่นาน 7-15 วันน้ำก็ลด

แต่พอมาสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในลุ่มน้ำชีก็ทำให้น้ำท่วมผิดปกตินาน 3-4 เดือน ยิ่งหากมีการสร้างเขื่อนชีบนและเขื่อนยางนาดีตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านก็ยิ่งจะทำให้คนลุ่มน้ำชีต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมนานกว่าเดิมอีก

ประการที่ 2 ในช่วงหน้าแล้ง หากมีการสร้างเขื่อนยางนาดี เขื่อนชีบน น้ำในจังหวัดชัยภูมิ เขื่อนแต่ละเขื่อนจะมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำแล้งเพื่อรักษาตัวเขื่อนและเพื่อทำประโยชน์ตามที่เขื่อนได้กล่าวอ้างไว้แน่นอนก็จะทำให้น้ำอาจจะไหลมาหล่อเลี้ยงคนกลางน้ำและท้ายน้ำได้ไม่ปกติ หรือไม่สามารถไหลลงมาหล่อเลี้ยงคนลุ่มน้ำชีตอนล่างได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรในปัญหาการแย่งน้ำทำนา

นายสิริศักดิ์ยังกล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของโครงการบริหารทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้าน มีเป้าหมายโครงการชัดเจนอยู่แล้ว จึงมีคำถามว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนนั้นเป็นการประทับตราให้โครงการหรือไม่ ดังนั้น ตนจึงขอคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และตนมีข้อเสนอต่อการบริหารจัดการน้ำดังนี้ คือ รัฐควรที่จะหันกลับไปแก้ไขปัญหาเก่าก่อนโดยเฉพาะโครงการโขงชีมูล ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในลุ่มน้ำชี อย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรนาน 3-4 เดือนทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย หลังจากมีการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร

ดังนั้น รัฐบาลควรต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่ในระดับพื้นที่ และสุดท้าย ควรกระจายการบริหารจัดการลงสู่ชุมชนทั้งในระดับแผนงานและงบประมาณเพื่อให้ชุมชนได้จัดทำแผนในการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน และเพื่อเสนอความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และมีการจัดการน้ำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่

กำลังโหลดความคิดเห็น