xs
xsm
sm
md
lg

เวทีน้ำเชียงรายราบเรียบ ตัวแทน อปท.-คนลุ่มน้ำขอแบ่งงบลงพื้นที่ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เวทีรับฟังความเห็นพื้นที่นอกโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่เชียงรายราบเรียบ ตัวแทน อปท.-คนลุ่มน้ำขอจัดสรรงบลงพื้นที่ด้วย บอกเป็นพื้นที่ต้นน้ำ

วันนี้ (7 พ.ย.) นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่ห้องประชุมโรงแรมไดมอนด์ ปาร์ค อินน์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นผู้บรรยาย ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างคับคั่ง

รศ.ดร.สุขุม นำเสนอภาพรวมของโครงการว่า เป้าหมายใหญ่ของโครงการ คือการป้องกันปัญหาอุทกภัยหรือน้ำท่วม โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ว่าสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศร่วม 1.44 ล้านล้านบาท จึงมีการวางแผนดำเนินโครงการป้องกันอุทกภัยใน 36 จังหวัด

ส่วน จ.เชียงรายเป็นหนึ่งในกลุ่ม 33 จังหวัดนอกพื้นที่โครงการ และยังมีอีก 8 จังหวัดที่ไม่มีโครงการ และไม่มีปัญหาน้ำท่วมเลย แต่ตามแนวทางแล้วต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดยโครงการนี้แบ่งพื้นที่เป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับต้นน้ำพบว่าปัญหาน้ำท่วมเกิดจากการขาดป่าซับน้ำ เมื่อมีฝนตกน้ำก็หลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน จึงดำเนินการตามโครงการ 8 แผนงาน

ทั้ง 8 แผนงาน ประกอบด้วย 1. ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 2. บริหารจัดการเขื่อนเก็บกักน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี 3. ฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างหรือตามแผนที่วางไว้ 4. พัฒนาคลังข้อมูลระบบพยากรณ์และเตือนภัย 5. เผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ 6. กำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ 7. ปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และ 8. สร้างความเข้าใจการยอมรับและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ซึ่งเมื่องบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้แล้วจะได้ดำเนินการตามขั้นตอน แต่เนื่องจากเป็นของคนไทยทั้งประเทศ จึงต้องแสดงความเห็นเพื่อนำไปประกอบโครงการด้วย

ทั้งนี้ มีการแจกเอกสารการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 5 ปี โดยสร้างอ่างเก็บน้ำ 18 แห่ง รวมถึงอ่างเก็บน้ำแม่วงก์ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งถูกต่อต้านจากภาคประชาชนที่ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาจถูกทำลายหากมีการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งขัดแย้งกับการนำเสนอเรื่องการขาดป่าต้นน้ำเพื่อซับน้ำข้างต้นอย่างมาก

ข่าวแจ้งว่า ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนที่อยู่ลุ่มน้ำแสดงความเห็นว่า พื้นที่ จ.เชียงรายก็มีปัญหาน้ำท่วมเหมือนกัน จึงควรจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น