ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชาวขอนแก่นนัดชุมนุมต้านเขื่อนแม่วงก์อีก เย็นนี้ 17.00 น. ที่ลานศูนย์การค้าเซ็นทรัล คาดคนไม่เห็นด้วยกับการทำลายป่า-ผลาญงบ-รักษ์สิ่งแวลล้อม ร่วมคัดค้าน
กระแสคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ นับวันจะขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่ หลังจากประชาชนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่มีการแชร์ข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง และยิ่งได้อ่านได้ศึกษากรณีผลกระทบที่จะตามมา ทำให้ประชาชนหลากหลายอาชีพต้องการจะมีส่วนร่วมคัดค้านโครงการมากขึ้น
ล่าสุด เย็นวันนี้ (29 ก.ย.) ที่ลานด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ชาวขอนแก่นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนัดรวมตัวชุมนุมคัดค้านเวลา 17.00 น. คาดว่าจะมีกลุ่มประชาชนหลากหลายอาชีพในขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางไปร่วมชุมนุม
ทั้งนี้ จ.ขอนแก่นมีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ออกมาแสดงพลังไม่เห็นด้วยชัดเจนมากขึ้น หลังจากเมื่อหัวค่ำที่ผ่านมา (28 ก.ย.) ภาคีเครือข่ายคนหนุ่มสาว เยาวชนจากหลายกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมขอนแก่น สมาคมไทสิกขา ก้าวใหม่วัยสะออนเทศบาลนครขอนแก่น (กลุ่มเยาวชนนอกระบบ) ร้านนมสดโฟร์มิลค์ (ทางเลือกเพื่อการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน) กลุ่มเยาวชนมังกรดำ กลุ่มเยาวชนโรงแตก เป็นต้น ได้รวมตัวจัดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าบนถนนคนเดินหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ให้ร่วมลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการ
พร้อมกับแจกเอกสารให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการว่า หากมีการก่อสร้างจริงจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวขอนแก่น และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ทั้งนี้ เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลวางแผนก่อสร้างที่บริเวณเขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และเพื่อให้เกษตรกรในเขตชลประทานมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยเขื่อนแม่วงก์มีความสูง 57 เมตร สันเขื่อนยาว 730 เมตร กว้าง 10 เมตร ความจุของอ่างเก็บน้ำประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณก่อสร้าง 13,280 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี
จากข้อมูลของเว็บไซต์มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานผลกระทบการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า ด้านนิเวศจะทำลายป่าต้นน้ำ อาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างจนยากแก่การควบคุม เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า เช่น นกยูง เสือโคร่ง ส่งผลกระทบต่อป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง เพราะป่าแม่วงก์เชื่อมต่อกับผืนป่าตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย ผืนป่าอนุรักษ์ 17 ผืนต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าใหญ่ถึง 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด
เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า แม้จะต้องเสียผืนป่าเพียง 18 ตารางกิโลเมตรก็ตาม แต่ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่น้อยมาก จึงไม่สามารถที่จะเสียผืนป่าได้อีก
นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 300,000 ไร่ แต่การสร้างเขื่อนจะจ่ายน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้เพียง 100,000 ไร่เท่านั้น
รายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำมากถึง 70-80% ที่ไหลลงมายังที่ราบ อ.ลาดยาว ดังนั้น แม้สร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยได้มากนัก โดยไม่ต้องสงสัยว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีผลต่อการบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามงบประมาณสร้างเขื่อนตามโมดูล A1 ที่มากับโครงการเงินกู้จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลได้เพียงไม่ถึง 1% ของน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
สำหรับทางออกนั้น มีข้อเสนอให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างผสมผสาน เช่น ควรสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจัดกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และควรสร้างแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายปีพบว่ากระจายทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ
ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดในการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม