สตูล - ภาคประชาชนติงเวทีแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหมกเม็ด ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาแท้จริง หลังให้สตูลอยู่นอกพื้นที่ก่อสร้างบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
วันนี้ (20 พ.ย.) คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (41 เวที) เรื่อง “แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่โรงแรมสินเกียรติธานี จังหวัดสตูล สำหรับจังหวัดสตูล อยู่นอกพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง จะดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
โดยเชิญทุกภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กลุ่มข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน เกษตรกร/ประมง รับจ้าง/ลูกจ้าง นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ค้าขาย/ธุรกิจ องค์กรเอกชน (NGO) สื่อมวลชน นักเรียน/นักศึกษา และประชาชนทั่วไป 200 คน ร่วมรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วม การสร้างจิตสำนึก รวมทั้งคำชี้แนะในการร่วมกันบริหารจัดการน้ำ
นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แจ้งว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย และวางระบบการบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ รวมเป็น 36 จังหวัด ในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง
และเพิ่มเติมอีก 41 จังหวัด นอกพื้นที่ที่มีก่อสร้าง โดยจะรับฟังความคิดเห็นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความเดือดร้อน หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนจากการดำเนินโครงการ จำนวน 8 แผนงาน เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ และปรับปรุงการดำเนินการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในครั้งนี้ ประชาชนหลายกลุ่มตั้งข้อสังเกตเวทีครั้งนี้ว่า ต้องการอะไรจากภาคประชาชนกันแน่ทั้งที่งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ไม่มีจังหวัดสตูลอยู่ในงบประมาณที่จะให้มีการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกลับมองว่าหากรัฐมีความจริงใจควรจะมีการทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้มากกว่านี้ก่อนที่จะเปิดเวทีรับฟังเพื่อจะแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
สำหรับพื้นที่จังหวัดสตูล มีน้ำท่วมลักษณะน้ำป่าไหลหลากจากพื้นที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หากมีน้ำทะเลหนุนน้ำจะท่วมเป็นวงกว้าง และน้ำจากลุ่มน้ำต่างๆ เช่น น้ำจากจังหวัดสงขลา ไหลมาสมทบจาก ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง มาสมทบร่วมกับน้ำที่ชลประทานดุสน อ.ควนโดน น้ำจากเขาเทือกเขาบรรทัด ไหลมาจาก อ.มะนัง อ.ควนกาหลง อ.ละงู จากที่สูงลงที่ต่ำจนเกิดน้ำป่าท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ไม่ถึงสัปดาห์ระดับน้ำก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ