พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยปี 57 ขยายตัวมากกว่าปี 56 แนะนักลงทุนทำการค้ากับเพื่อนบ้านในอาเซียนและจีน หลังมูลค่าการค้าผ่านชายแดนขยายตัวพุ่งพรวด แทนตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นที่ชะลอตัว
วานนี้ (18 พ.ย.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจการเงินกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ” ในงานสัมมนาวิชาการปี 56 เรื่อง เจาะลึกเศรษฐกิจปีม้า โอกาสมา และความท้าทาย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ จัดขึ้นที่โรงแรมท็อปแลนด์ พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก
ดร.ประสารกล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2556 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ต้องปรับตัวเลขการเติบโตลง 3 ครั้ง เนื่องจากปี 2555 ยังมีการลงทุนของภาครัฐ-เอกชน เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 แต่ปีนี้ผู้บริโภคได้ชะลอการใช้จ่ายลง ภาคธุรกิจก็ระมัดระวังการลงทุน ขณะที่อุปสงค์ตลาดต่างประเทศแม้จะมีแนวโน้มฟื้นฟู แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่เข้มแข็ง และปัจจัยการเมืองในประเทศก็มีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนภาคธุรกิจชะลอการลงทุนด้วย
อย่างไรก็ตาม ปี 2557 ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตมากกว่าปี 2556 เศรษฐกิจยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น แต่การหวังพึ่งสินค้าส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้คงยากขึ้น เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง สหรัฐฯ ก็ยังมีปัญหาด้านการคลัง ยุโรปก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเสริมความเข้มแข็งทางการเงิน ส่วนญี่ปุ่นก็ยังต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ฟื้นฟูต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ และยุโรปมีสูง ความต้องการซื้อสินค้าก็มีจำกัด
ขณะที่สินค้าส่งออกด้านเทคโนโลยี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็อยู่ในกลุ่ม SUNSET ไปแล้ว การส่งออกของไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกที่มีความต้องการสมาร์ทโฟนมากกว่า
ดร.ประสารกล่าวว่า อยากให้ภาคธุรกิจมีความคาดหวังกับความเป็นจริง ไทยเราพึ่งเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น แต่ต้องหาโอกาสใหม่ๆ มาชดเชย โดยเฉพาะการลงทุนในอนุภูมิภาค ภาคเหนือนั้นโอกาสและความท้าทายยังมี จุดยุทธศาสตร์ของพิษณุโลก และภาคเหนืออยู่ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้า East-West Economic Corridor ยังสามารถทำการค้า และการลงทุนกับกลุ่มประเทศอาเซียน-จีนตอนใต้ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคน และมูลค่าการค้าชายแดนชี้ให้เห็นแล้วว่า การค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตต่อเนื่อง จากปี 2552 มีมูลค่าการค้าชายแดน 41,000 ล้านบาท ปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 79,000 ล้านบาท
ซึ่งนักลงทุนยังมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมและก้าวสู่ความสำเร็จ ได้แก่ การสร้างแบรนด์สินค้า จากเดิมที่ไทยเป็นฐานในการรับจ้างผลิต ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ค่าจ้างแรงงานถูก แต่จากนี้ไปปัจจัยเหล่านี้คงไม่สามารถเป็นจุดแข็งได้แล้ว ควรพัฒนาสินค้าสร้างแบรนด์ของตนเอง เพราะสินค้าของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านสูงอยู่แล้ว รวมทั้งมองหาแหล่งทรัพยากรการลงทุนในต่างประเทศที่เหมาะสม
ดร.ประสารระบุอีกว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานักธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ในหลากหลายอุตสาหกรรม และขนาดการลงทุนที่เล็กลง ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจใหญ่ๆ เท่านั้น บีโอไอก็มีมาตรการส่งเสริมให้ไปลงทุนต่างประเทศ
ขณะที่แบงก์ชาติเองก็ผ่อนคลายกฎระเบียบให้ภาคธุรกิจได้ไปทำการค้าในต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น บุคคลธรรมดา เดิมจำกัดการลงทุนในต่างประเทศวงเงิน 100 ล้านบาท ก็ได้ผ่อนคลายลง สนับสนุนให้ภาคธุรกิจใช้เงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทในการทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ออกกฎเกณฑ์ให้สามารถนำเงินบาทออกไปได้ 2 ล้านบาท จากเดิม 500,000 บาท
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรสร้างเครือข่ายธุรกิจร่วมกันเป็นเชิงกลยุทธ์ ช่วยสร้างจุดแข็งในการเจาะตลาดต่างประเทศ ทั้งธุรกิจเดียวกันและต่างธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาฐานตลาดเดิมได้แล้วยังสามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจจากต่างประเทศได้ด้วย เช่น ธุรกิจเครือข่ายโรงพยาบาลทำธุรกิจร่วมกับธุรกิจท่องเที่ยว และสายการบิน เป็นต้น