เศรษฐกิจสเปนในไตรมาส 3 ขยายตัว 0.1% เป็นครั้งแรก หลังจากเผชิญสภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อมานาน 2ปี โดยมีเพียงการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ก็สามารถชดเชยการบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงได้ ทั้งนี้ GDP ของสเปนหดตัวเป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2554
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของเยอรมนีในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 2,000 ราย เป็น 2.97 ล้านคน จากการเพิ่มขึ้น 24,000 รายในเดือนก่อน ขณะที่อัตราว่างงานยังคงที่อยู่ในระดับ 6.9%
ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 97.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 96.9 ในเดือนก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 97.2 จุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี
ECB เปิดเผยผลสำรวจจากธนาคารพบว่า ธนาคารในยูโรโซนมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลงในไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นแนวโน้มการผ่อนคลายครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและบริษัทเอกชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 0.2% จากระดับ 0.1% ในเดือนก่อน จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 0.8% ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาสินค้าอาหารและพลังงาน)เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำจะช่วยให้ธนาคารกลางสหรัฐสามารถดำเนินมาตรการ QE ได้ต่อไปเพื่อให้อัตราการว่างงานลดลงตามเป้าหมาย
ภาคเอกชนสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 130,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. จากการเพิ่มขึ้น 145,000 ตำแหน่งในเดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวที่สุดในรอบ 6 เดือน คาดว่าอาจเป็นผลกระทบจากการปิดหน่วยงานภาครัฐบางแห่งในช่วงที่ผ่านมา
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน และ 5.4% จากปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการกระตุ้นการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถชดเชยกับการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงจากการขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคในปีหน้า
รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับผ่อนปรนสะท้อนจากการขยายตัวที่ดีของสินเชื่อภาคเอกชน ทั้งนี้ กนง.กล่าวว่า แนวโน้ม และเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง 3 ประการที่ต้องติดตาม คือ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่อาจจะล่าช้า 2) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ 3) การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชน
สศค.เปิดเผยว่า อาจมีการปรับเป้า GDP ในปีนี้ลงอีกหลังตัวเลขส่งออกในเดือน ก.ย. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกในเดือนก.ย.มีมูลค่าเพียง 19.3 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 7.1%จากปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ในระดับ 3.3% จาก 4.1% ในครึ่งปีแรก และมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด ขณะที่เชื่อว่า สถานการณ์การเมืองจะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย
SET Index ปิดที่ 1,431.12 จุด ลดลง 24.74 จุด (-1.70%) ด้วยมูลค่าซื้อขาย 40,857 ล้านบาท เป็นการปรับตัวลดลงสวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาค จากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศที่จะมีการประชุมสภาฯในวันนี้เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 2 และการประกาศชุมนุมประท้วงของผู้ที่คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง -0.02 ถึง 0.00% โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,932 ล้านบาท สำหรับวันนี้ไม่มีการประมูลพันธบัตร