xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามแตะ! จนท.รวบ 2 แกนนำค้านเวทีน้ำกำแพงเพชร-หิ้วขึ้นรถขังผู้ต้องหา(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก facebook ตะวันฉาย ใต้แสงดาว
กำแพงเพชร - เวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านกำแพงเพชรป่วนหนัก หลังภาคประชาชนขอเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เจอ จนท.ตั้งกำแพงขวาง แถมจับ 2 แกนนำชาวบ้านหิ้วขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาจนเกิดจลาจล



วันนี้ (15 พ.ย.) นายสุรพล วานิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ที่คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายนพปฎล เมฆา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 18 พร้อมด้วยคณะวิทยากรจาก กบอ. และคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ร่วมเวที

ขณะที่เครือข่ายประชาสังคมภาคเหนือตอนล่าง, เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินภาคเหนือตอนล่าง, เครือข่ายนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง, เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง, เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำป่า จังหวัดกำแพงเพชร ประมาณ 800 คน ก็ได้เดินขบวนถือป้ายต่อต้านโครงการบริหารจัดการน้ำ เข้ามายังหน้าอาคารทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่วิถีชีวิตของคนในชุมชน

แต่เหตุการณ์เริ่มชุลมุน เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ตั้งกำแพงกั้นไว้ โดยอ้างว่ามีคนลงทะเบียนเข้าร่วมเวทีเต็ม 1,200 คน จนเกิดการผลักดันกันขึ้น จนในที่สุดภาคประชาชนไม่สามารถที่จะทลายกำแพงเจ้าหน้าที่เข้าไปได้ถูกผลักดันออกนอกบริเวณหน้าอาคาร นอกจากนี้แกนนำของเครือข่ายภาคประชาชนยังถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา 2 คน คือ นายรณชัย ชัยนิวัฒนา และ นายประเทือง สารีหอม อ้างว่าให้สงบสติอารมณ์เป็นเวลา 10 นาที ทำให้กลุ่มประชาชนเกิดความไม่พอใจ ฮือปิดล้อมรถที่ควบคุมตัวแกนนำ พร้อมกับเจรจาให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวจนมีการปล่อยตัวออกมาภายหลัง

นายประสิทธิ์ บึงมุม เครือข่ายทรัพยากรดิน ป่า น้ำจังหวัดกำแพงเพชร บอกว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นวันนี้ คนกำแพงเพชรต้องการเข้าร่วมการรับฟังในประเด็นที่เดือดร้อน แต่ทางราชการจำกัดโควตาให้เพียง 40 คนเท่านั้น แต่พวกเราต้องการไปรับฟังใกล้ๆ จึงเกิดปัญหาการประทะเพราะมีตำรวจขวางกั้นอยู่ จึงเกิดการกระทบกระทั่ง ทั้งๆ ที่เป็นเวที ตั้งความคิดเห็น แต่กลับไม่ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงร่วมรับฟัง กลุ่มพวกตนจึงถูกควบคุมตัวไปจำนวน 2 คน และถูกกักบริเวณข้างเคียงจำนวน 20 คน โดยตำรวจชุดควบคุมฝูงชน

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรได้เดินออกมาพบกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการเดินทางมาร่วมแสดงความคิดเห็นคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทน 7 คนพูดถึงผลกระทบแต่ละอำเภอ แต่ละพื้นที่ เช่น ชาวเขาบ้านแม่พืช และบ้านแปลงสี่ บ้านวุ้งกะสัง อ.คลองลาน และตัวแทนจากอำเภอขาณุวรลักษบุรี คัดค้านเรื่องการสร้างฟลัดเวย์ เนื่องจากกระทบต่อที่ดินทำกินในพื้นที่ ซึ่งส่งข้อมูลผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 300 ครัวเรือน จากนั้นตัวแทนได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะ

พร้อมกันนั้นเครือข่ายภาคประชาชนยังได้แถลงการณ์ว่า จากการที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดเพื่อกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาอุทกภัยนั้น กระบวนการขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม คือขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม ขาดรายละเอียด ตรวจสอบไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล และที่สำคัญไม่มีหลักประกันว่าจะแก้ปัญหาอุทกภัยได้ นำไปสู่ข้อกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้แก่ประเทศมหาศาล และไม่ได้มองมิติในเรื่องน้ำแล้ง ภูมิปัญญา และวิถีชุมชนคนอยู่กับน้ำ

นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการจัดทำโครงการผิดขั้นตอนปกติของการดำเนินงานโครงการของรัฐ ซึ่งควรจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง จึงจะออกแบบ กำหนดราคากลาง และว่าจ้างผู้รับเหมา

แต่ กบอ.กลับไปรวบเอาโครงการจากหน่วยงานรัฐซึ่งค้างท่อมารวมเป็นแผนงานและจัดจ้างให้บริษัทเอกชนต่างชาติมาประมูล และรับผิดชอบในการดำเนินการ รวมถึงประเด็นที่มีความล่อแหลมในการเกิดข้อพิพาทในกรณีการเวนคืนที่ดินด้วย โดยเฉพาะในโมดูล A5 ที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการดำเนินโครงการ

ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าขาดความเหมาะสมและขั้นตอนไม่ถูกต้อง รวมถึงดำเนินการภายใต้แผนงานนี้ใช้วิธีรวบรัดตัดตอน หรือหากเรียกอีกอย่างคือ “คิดไปทำไป” ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ที่ควรจะมีการศึกษา และฟังเสียงประชาชนอย่างมีส่วนร่วม และการออกแบบที่ละเอียดรอบคอบ สร้างความเดือดร้อนน้อยที่สุด

แต่ในแผนงานครั้งนี้กลับไม่ได้ออกแบบจริงจัง ขาดรายละเอียดในเชิงพื้นที่ก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง การเวนคืน ผู้รับประโยชน์ และผู้ได้รับผลกระทบ เรียกได้ว่าแทบไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อให้สาธารณชนพิจารณา

ดังนั้น จากความเร่งรีบและไร้ประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายที่ละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมมีก่อเกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงสร้างหนี้มหาศาลให้แก่ประเทศไทยในครั้งนี้ ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างจึงขอแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายภายใต้พระราชกำหนดเพื่อกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และขอเสนอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ภายใต้โครงการนี้ทั้งหมด และกลับมาฟังความต้องการและ “เสียงของประชาชนที่แท้จริง” เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อการสร้างรูปธรรมการมีส่วนร่วมที่มิใช่เพียงวาทกรรมชวนเชื่อ และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนส่วนน้อยแต่กลับสร้างปัญหาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศ








กำลังโหลดความคิดเห็น