xs
xsm
sm
md
lg

“คนท่าปลา” สอนเชิงก่อนเทงบ 3.5 แสนล้าน ชี้ยกที่สร้างเขื่อนแต่ถูกรัฐทอดทิ้งกว่า 40 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุตรดิตถ์ - ชาวอำเภอท่าปลานำบทเรียนยกที่ทำกินให้สร้างเขื่อนสิริกิติ์กว่า 40 ปีก่อนสอนเชิงก่อนทำโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เผยหลังสร้างเขื่อนเสร็จชาวบ้าน 4 ตำบลถูกทอดทิ้งจนครอบครัวแตกแยก สังคมเสื่อมถึงทุกวันนี้

วันนี้ (8 พ.ย.) นายอำนวย จันต๊ะมูล กำนันตำบลท่าปลา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวขณะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โครงการเพื่อการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และการแก้ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ว่า โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็เห็นด้วย แต่การดำเนินการต้องคิดให้ดี ที่สำคัญจะต้องนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คือการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ อ.ท่าปลา กว่า 40 ปีก่อนที่ชาวบ้าน 4 ตำบลใน อ.ท่าปลา ต้องเสียสละยกพื้นที่อุดมสมบูรณ์ให้สร้างเขื่อน และทางราชการจัดสรรที่ดินให้รายละ 13 ไร่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ พื้นที่อยู่บนเขา ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ขาดการเหลียวแลจากทางราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายอำนวยกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน ชาวบ้านต้องอพยพไปขายแรงงานต่างจังหวัด พ่อ-แม่วัยทำงานปล่อยให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ลูกหลานติดยาเสพติด มีครอบครัวก่อนวัยอันควร วัยรุ่นท่าปลากลายเป็นปัญหาของสังคม เสื่อมทรามลงทุกวัน น้ำดื่มก็ยังเดือดร้อน ประชาชนต้องแก้ปัญหากันเอง เพราะท่อส่งน้ำตามพระราชดำริจ่ายน้ำไม่ทั่วถึง

“ก่อนที่จะทำโครงการอะไรในอุตรดิตถ์จะต้องคิดถึงผลกระทบให้มากๆ” นายอำนวยทิ้งท้าย

ด้านนายสมมิตร พุทธิชัย กำนันตำบลนางพญา อ.ท่าปลา กล่าวว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อ.ท่าปลา คิดกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า แต่กลับมีคนของหน่วยงานและนายทุนที่รู้ข้อมูลเข้าไปกว้านซื้อที่ดินจากประชาชนในราคาถูกเพื่อรอรับการเวนคืนจากรัฐในราคาที่สูง การจัดเวทีแต่ละครั้งอ้างเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ไม่มีความคืบหน้า เป็นเพียงเวทีเพื่อนำงบประมาณออกมาใช้โดยไม่เกิดประโยชน์

เช่นเดียวกับโครงการบริหารจัดการน้ำที่ใช้งบประมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาทก็ยังไม่มีโครงการที่เป็นรูปธรรม มีเพียงเอกสารเท่านั้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่หมกเม็ด หวังนำงบประมาณออกมาจัดเวทีเท่านั้น คนที่มาร่วมก็เชื่อว่าไม่เข้าใจในโครงการนี้ บางคนไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เลย บางคนก็มาเพียงหวังเพื่อเงิน 400 บาทเป็นค่าเดินทาง อีกทั้งผู้ที่มาให้ความรู้เรื่องโครงการนี้ก็ไม่มีคนอุตรดิตถ์เลยแม้แต่คนเดียว เป็นการนำนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากเชียงใหม่ ที่ไม่รู้ปัญหาและข้อเท็จจริงของคนอุตรดิตถ์ว่าต้องการอะไร

“เวทีนี้จึงถือว่ามาหาแนวร่วม กล่อมให้คนอุตรดิตถ์เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทออกมาใช้”

นายสมมิตรกล่าวว่า สำหรับอุตรดิตถ์เป็น 1 ใน 36 จังหวัดที่จะมีการดำเนินการโครงการ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยพังงา ต.บ้านฝาย อ.น้ำปาด อ่างเก็บน้ำน้ำปาด ต.ฟากท่า อ.ฟากท่า พื้นที่ปิดป้องกันน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ต.ท่าเสา และเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อ.ลับแล พื้นที่ขุดขยายคลอง คลองหกบาท ลุ่มน้ำยม-น่าน อ.พิชัย ครอบคลุม ต.คอรุม ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น