xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.วิทย์ฯ” หนุนสถาบันแสงซินโครตรอน เพิ่มศักยภาพแข่งขันประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีรพันธุ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ตรวจเยี่ยมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อ.เมือง  จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ตรวจเยี่ยมสถาบันแสงซินโครตรอนโคราช ที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงสยามแห่งใหญ่สุดในอาเซียน ยกเป็น “ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางแห่งชาติ” พร้อมหนุนงานวิจัยให้เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทั้งด้านการแพทย์ เกษตร และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของไทย ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณเต็มที่

วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เมื่อวานนี้ โดยมี ศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะผู้บริหาร และนักวิจัยให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ แสงซินโครตรอนเป็นแสงชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยได้หลายด้าน เนื่องจากเป็นแสงที่มีความสว่างจ้ามากกว่าดวงอาทิตย์ถึงล้านเท่า จึงสามารถส่องดูสิ่งเล็กๆ ในระดับอะตอมได้

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนากำลังคน โดยสถาบันฯ แห่งนี้มีบทบาทเป็น “ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางแห่งชาติ” ของประเทศที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และตอบโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรมอันจะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยให้ก้าวไกลในหลากหลายด้าน เช่น การแพทย์ ซึ่งทางสถาบันฯ มีโครงการสร้างเครื่องเร่งอานุภาคในการรักษามะเร็งจากแสงซินโครตรอนขึ้นเป็นครั้งแรก

รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยพัฒนาทางด้านการเกษตร โบราณคดี สิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ และอุตสาหกรรม ทำให้เรามีศักยภาพที่จะแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยที่ผ่านมา มีอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ได้เข้าใช้บริการห้องปฏิบัติการแสงสยามเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแค่เป็นการแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต แต่ยังเป็นการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมได้

“ในยุคที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง รวมถึงการรวมกลุ่มกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้า โดยนำวิทยาการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย และแสงซินโครตรอนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้ และกระทรวงวิทยศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม และได้เน้นให้สถาบันแสงซินโครตรอน เร่งทำงานวิจัยให้เป็นรูปธรรม โดยพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณเต็มที่” นายพีรพันธุ์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น