เชียงราย - ใบปลิวอ้างทางการ สปป.ลาว เรียกเก็บค่าเดินเรือผ่านแม่น้ำโขงแพร่สะพัด ขอเก็บเงินค่าผ่านทางสูงสุดเกือบ 1 แสนบาท/เที่ยว แต่เรือลาวเรียกแค่ 1 พันบาท บอกเป็นการจัดระเบียบ คุ้มครองความปลอดภัยจากเชียงแสน-สบหรวย ด้านรัฐ เอกชนไทยถกด่วน พร้อมประสาน กต.ถามลาวให้ชัดก่อนวุ่น
นายวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ได้เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงและเศรษฐกิจชายแดนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจภูธร ตำรวจน้ำ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย กรมเจ้าท่า และตัวแทนภาคเอกชน ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอฯ เพื่อหารือหลังมีการแจกจ่ายเอกสารกันในหมู่คนเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขง ชายแดนไทย-สปป.ลาว แจ้งให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ส่วนหนึ่งเป็นคนไทยให้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมเรือสินค้าประเภทต่างๆ ในอัตราสูงกว่าค่าธรรมเนียมปกติ
โดยหนังสือดังกล่าวอ้างไว้บนหัวหนังสือว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สันติภาพเอกราชประชาธิปไตย เอกภาพวัฒนาถาวร” พร้อมลงเลขที่ และลงวันที่เอาไว้เรียบร้อย ด้านบนหนังสือระบุว่า เป็นใบประชาสัมพันธ์ถึงนักธุรกิจไทยเรื่องข้อตกลงทางการแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ
พร้อมระบุว่า กลุ่มบริหารเรือขนส่งสินค้าได้จัดให้มีการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขง จากท่าเรือ อ.เชียงแสน-เมืองสบหรวย ประเทศพม่า ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร เพื่อให้มีความสะดวกสบาย และปลอดภัย รวมทั้งมีความยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.56 เป็นไปต้น ให้จ่ายค่าธรรมเนียม โดยแบ่งเรือที่จะต้องจัดเก็บเป็น 4 สาย ได้แก่ เรือบรรทุกเครื่องเย็น 2 ตู้ เรือบรรทุกเครื่องเย็น 1 ตู้ เรือบรรทุกโคกระบือ และเรือบรรทุกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
โดยแต่ละกลุ่มจะมีผู้รับผิดชอบดูแลประสานงานไกล่เกลี่ย ดูแลเรื่องอุบัติเหตุ และคดีความด้านมาตรฐานตลอดเส้นทางเดินเรือสินค้าดังกล่าว ดังนั้น จึงมีการเสนอขอเก็บค่าธรรมเนียมจากกลุ่มแรกเป็นเงิน 90,000 บาทต่อเที่ยว กลุ่มที่ 2 เป็นเงิน 52,000 บาทต่อเที่ยว และกลุ่มที่ 3 เป็นเงิน 55,000 บาทต่อเที่ยว แต่ไม่ระบุกลุ่มที่ 3 คือ พวกอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด
สำหรับนักธุรกิจไทยที่ใช้บริการเรือสินค้าลาว หรือซื้อให้ลาวเป็นคนขับเรือโดยขึ้นทะเบียนเรือในฝั่งลาวจะมีการจัดคิวพิเศษให้ แต่จะเสียค่าสมัครคิวละ 4,000 บาทต่อลำ และเสียค่าเดินเรือเที่ยวละ 1,000 บาท
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบแล้วทราบว่า หนังสือดังกล่าวไม่ได้ออกมาจากทางการ สปป.ลาว แม้มีการใช้หัวหนังสือของทางการ สปป.ลาว แต่ก็ลงนามโดยบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกัน ไม่ได้มีการแจ้งหนังสือมายังทางหน่วยงานราชการไทยอย่างเป็นทางการ
หรือหากทางการ สปป.ลาว จะมีการแจ้งถึงในอนาคตก็จะต้องยึดตามข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติคือ ไทย พม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ที่ได้ลงนามร่วมกัน ซึ่งมีเนื้อหาว่ากรณีจะมีการประสานงานเกี่ยวกับการเดินเรือสินค้าระบุให้ทาง สปป.ลาว ต้องแจ้งหนังสือออกมาจากกระทรวงคมนาคมขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้างเท่านั้น จึงเห็นว่าหนังสือที่แจกจ่ายกันตามชายแดนฉบับนี้ไม่มีผลใดๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วก็ให้ทางผู้ประกอบการไทย ร่วมกับหอการค้า จ.เชียงราย แจ้งเรื่องไปยังกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสอบถามไปยังรัฐบาล สปป.ลาว ขอความชัดเจนต่อไป
ด้านนายประธาน อินทรียงค์ กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จ.เชียงราย กล่าวว่า ตามที่มีข่าวกลุ่มคนเรียกเก็บค่าคุ้มครองในแม่น้ำโขง คล้ายกรณีของนายหน่อคำ ซึ่งเคยก่อเหตุเมื่อหลายปีก่อนนั้น ตนเห็นว่าจากข้อมูลที่ได้รับไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย เพราะดูจากหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นการข่มขู่เรียกค่าคุ้มครอง แต่เป็นลักษณะการจัดระเบียบเรือที่มีสัญชาติลาว และการจัดเก็บค่าระวางการเดินเรือเท่านั้น ซึ่งพวกเราก็จะต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร
“ทุกวันนี้ในแม่น้ำโขงก็มีหน่วยงานร่วม 4 ประเทศคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยในแม่น้ำโขงอยู่แล้ว โดยประเทศไทย ก็มีตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดใน แม่น้ำโขง (ศปปข.) อยู่ที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่เรือบรรทุกสินค้า เรือโดยสาร และเรือท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความระมัดระวังด้วย” นายประธาน กล่าว
สำหรับการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขงในปัจจุบันมีการใช้เรือสินค้าสัญชาติลาวกันมากขึ้นนับ 100 ลำ ทั้งยังมีท่าเรือ อู่ต่อเรือที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงแสน ด้วย จากเดิมที่ใช้เรือสัญชาติจีนขนาดใหญ่ระวางบรรทุก 150-300 ตัน แต่หลังเกิดเหตุการณ์เรียกค่าผ่านทาง และปล้นเรือสินค้า รวมทั้งฆ่าลูกเรือ 13 ศพ เมื่อปลายปี 2554 แล้วการเดินเรือสินค้าจีนก็ซบเซาลง กระทั่งทางการจีนจับกุมตัวนายหน่อคำ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธได้ และลงโทษประหารชีวิตที่มณฑลยูนนานไปแล้ว สถานการณ์ก็คลี่คลายลง และทั้ง 4 ชาติมีการจัดตั้งกองกำลังร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัย