ขณะที่ผืนป่าน้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ต่อเนื่องถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ถูกข้าราชการป่าไม้บางคน ปักหมุดกลางป่า นำที่ไปเร่ขายนายทุนปักษ์ใต้ แลกค่านายหน้าระดับ 7 หลักอยู่นั้น“พิษณุโลก” จังหวัดใกล้เคียงของเพชรบูรณ์ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนายทุนปักษ์ใต้ ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในเขตป่า ทำสวนยางพารากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งในเขต อ.นครไทย - อ.วังทอง
ระยะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง - ทหาร(กอ.รมน.) รวมถึงป่าไม้ ฯลฯ ร่วมกันเปิดยุทธการ “ขอคืนผืนป่าให้แผ่นดิน” มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง นำเลื่อยโซ่ยนต์ ตะลุยตัดโค่นต้นยางในสวนยางกลางป่า ที่ยึดคืนตาม ม.25 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ศ.2507 ในพื้นที่ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง เขตลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวา และบ้านน้ำดั้น ต.หนองกระท้าว,บ้านห้วยเซิม และบ้านโคกคลาย ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย ในป่าสงวนแห่งชาติสวนป่าเขากระยาง และป่าเนินเพิ่ม (ตามลำดับ)ก่อนที่จะปลูกป่าทดแทนตามโครงการประชาปลูกป่าปี 2556 ทันที
ขณะเดียวกัน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ก็ได้บุกเข้ายึดคืนผืนป่าจากนายทุน ไม่ห่างจากพื้นที่โครงการ"ประชาอาสาปลูกป่าปี 56"ที่บ้านโคกคล้าย ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม 1,400 ไร่ ที่ถูกบุกเบิกใหม่ ไม่ต้องใช้มาตรา 25 และปลูกป่าแทนทันที
แต่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ประจำแปลง เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน(ขอสงวนนาม) บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ไม่กี่วันก่อน ขณะที่ตน และลูกน้อง เดินทางไปปักหลักแนวเขตทุกๆ 50 เมตร บนเนื้อที่แปลงปลูกป่า ณ.บ้านโคกคล้าย ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย ลูกน้องที่เดินไปด้วยต่างตกใจกลัวไปตาม ๆ กัน เนื่องจากเห็นป้ายแผ่นเหล็กผืนใหญ่ ที่นำไปติดหน้าแปลงปลูกป่า กลับมีข้อความเขียนเพิ่มว่า "มึงปลูก มึงตาย"
โครงการปลูกต้นสัก ประดู่ มะค่าฯลฯ นี้ ได้นำที่ดินแปลงตรวจยึด 1,400 ไร่ พร้อมขยายพื้นที่อีก 1,000 ไร่ ในริมแนวเขตอุทยานฯ รวมแปลงปลูกป่าเนื้อที่ 2,400 ไร่
ด้านนายธนัช เนมีย์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ยืนยันว่า มีกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์โทรศัพท์มาหาตนเหมือนกัน อ้างว่าเป็นที่ปรึกษาของอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง ขอเคลียร์เจ้าหน้าที่ประจำแปลงปลูกป่า แต่ตนบอกเจรจาไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวถูกตรวจยึด และจับกุมเมื่อปี 53 ผ่านกระบวนการกฎหมาย และยึดคืนให้แผ่นดินไปแล้ว
นายธนัช บอกว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่สถานการณ์ที่ปกติคือ กลุ่มผู้ปลูกยางพาราไม่ว่า ทุนใต้หนุนหรือคนในพื้นที่ ไม่พอใจคนของป่าไม้ เพราะทั้งอำเภอนครไทย แทบเรียกว่า ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีโฉนด ก็น้อยมาก เรียกว่า ถ้าจับ ก็ผิดกฎหมายทั้งอำเภอนครไทย
กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ที่ ขู่ จนท.ป่าไม้ อาจเป็นไปได้ ใน 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่ไม่พอใจ ที่จังหวัดพิษณุโลก ประกาศใช้เลื่อยโซ่ตัดโค่นต้นยาง ตาม ม.25 พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ. 2507
2.คือ กลุ่มทุนนักการเมืองหนุนหลัง ที่มักอ้างถึงบุคคลในพรรคฝ่ายค้าน หรือประชาธิปัตย์สายใต้ เช่น อักษรย่อ ธ. และ ถ. รวมไปถึง ส.ส.ในพื้นที่อำเภอ....... ก็ถูกหยิบหยกขึ้นมาอ้าง
3.คือ กลุ่มชาวบ้านที่ไม่พอใจ จนท.ป่าไม้ เพราะมีปัญหาพิพาทในที่ทำกินมาตลอดระหว่างคนกับป่าที่อำเภอนครไทย ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐ มีคดีตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯต่างๆ ทั้งสิ้น 530 คดี มีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านผิดกฎหมายจำนวน 11,620 ไร่ พบมากใน อ.นครไทย อ.ชาติตระการ อ.วังทอง และ อ.วัดโบสถ์
พร้อมกันนั้น พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ (ศปป.4) กอ.รมน.,ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ,ตชด.313 ,ตำรวจ สภ.วังทอง ,ป่าไม้ นำกำลังเข้าตรวจยึดแปลงสวนยางพาราที่ใช้ชื่อ"หจก.วีรนันทน์" พื้นที่บ้านตอเรือ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งซื้อที่ดินจากคนถิ่นฐานเดิมโดยมีใบ ภบท.5 มาในราคาไม่แพงนัก
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรวจสอบพิกัดภาพถ่ายทางอากาศยื่นในชั้นพนักงานสอบสวน ยืนยันว่า ปลูกยางพารา จำนวน 1,077 ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ส่วนที่ระบุว่า ปลูกยางกว่า 2,000 ไร่ บางส่วนเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ บางส่วนอยู่ในเขต สปก.
ต่อมา พ.ต.ท.ชาญชัย หาแก้ว รองผู้กำกับสืบสวน สภ.วังทอง ลงพื้นที่สวบสวนภายในสวนยางพาราพบว่า นายปรีชา จันทร์ครุฑ รับเป็นญาติของนายวีรนันทน์ จันทร์ครุฑ ที่ใช้ชื่อ "หจก.วีรนันทน์ขนส่ง"ทำธุรกิจสวนยาง
ล่าสุดคดีนี้ พนักงานสอบสวน กำลังอยู่ระหว่างสอบสวนพยานแวดล้อม “หลายปาก” ก่อนเรียกผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวน สภ.วังทอง ซึ่งคาดกันว่า ต้องใช้เวลา “นาน” พอสมควร ทำให้สวนยางพาราที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท แปลงนี้ ยังไม่ถูกตัดโค่นทิ้ง