ตามไปดูความสำเร็จเกษตกรลพบุรี จากชาวนาหันมาเลี้ยงหมูแบบไร้ความเสี่ยงกับซีพีเอฟ
การทำการเกษตร ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมายาวนานต่อเนื่อง แต่หากไม่มีการปรับปรุงหรือพัฒนาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาเสริม ปัจจุบันก็ยากที่จะแข่งขันและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรนั้นๆเพิ่มขึ้นจากเดิม
อาชีพเลี้ยงหมู ก็เช่นกัน หากชาวบ้านเลี้ยงกันไปตามยถากรรม ไม่มีการพัฒนาก็ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดและผู้เลี้ยงรายอื่นๆได้ ...วันนี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อตามไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของคนเลี้ยงหมู...ที่วันนี้เรียกว่ามั่นคงบนพื้นฐานอาชีพที่ยั่งยืน ที่ “มะลิฟาร์ม” เลขที่ 124 หมู่ 6 ตำบลบ้านเบิก อำเภอท่าวุ้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูให้กับเกษตรกรของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
“เมื่อก่อนทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ก็มีปัญหาขาดทุนมาตลอด เพราะราคาข้าวตกต่ำ เมื่อปี 2539 จึงเริ่มเลี้ยงหมู 50 ตัว เป็นอาชีพเสริม ต้องซื้อทั้งพันธุ์หมู อาหาร ยา-วัคซีน เรียกว่าลงทุนเองหมดทุกอย่าง ช่วงไหนราคาดีก็ยิ้มออก แต่ส่วนใหญ่จะขาดทุนมากกว่า เพราะราคาหมูค่อนข้างผันผวน ต้องบอกว่าเสี่ยงทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นทุนการเลี้ยง ภาวะโรค ที่สำคัญคือเสี่ยงกับตลาดที่คาดเดาไม่ได้ ตอนนั้นราคาตกยอมรับว่าเครียดมาก เวลานั้นเองซีพีเอฟมีโครงการส่งเสริมเลี้ยงหมูซึ่งเป็นอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงจึงได้ทดลองศึกษาจนเห็นจริงว่าความสำเร็จอยู่ไม่ไกล และตัดสินใจลงทุนทันทีอย่างไม่ลังเล” นางมะลิ รู้จบ เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรอนุบาลกับซีพีเอฟ เล่าถึงที่มาของอาชีพ
นางมะลิ บอกว่า ตอนเริ่มต้นเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ เมื่อปี 2541 การเลี้ยงเป็นโรงเรือนเปิดโล่ง โดยขยายขนาดโรงเรือนเก่าเพื่อเลี้ยงหมู 500 ตัว กระทั่งบริษัทมาแนะนำให้ทำโรงเรือนปิดแบบอีแวป ที่สามารถปรับอุณหภูมิภายในให้เหมาะกับความต้องการของหมูได้เป็นอย่างดี จึงไม่รีรอที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว นั่นเพราะร่วมโครงการกับซีพีเอฟมานาน จากประสบการณ์แล้วจึงมีความมั่นใจว่าสิ่งที่บริษัทแนะนำจะต้องคุ้มกับการลงทุน และเชื่อมั่นว่าบริษัทต้องเอาของดีมาให้ คิดว่าทำแล้วไม่เสียเปล่า ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดทุกอย่างก็ใช้ได้เป็นอย่างดีช่วยให้การผลิตพัฒนาขึ้น ประสิทธิภาพการเลี้ยงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ก่อนที่บริษัทจะถ่ายทอดให้เกษตรกรทำจะมีการทดลองในฟาร์มของบริษัทก่อนว่าใช้ได้ดีจริง ได้ผลจริง อย่างตอนที่ลงทุนทำโรงเรือนอีแวปก็ไม่ผิดหวัง เพราะช่วยให้หมูอยู่สบาย ไม่เครียด การเจริญเติบโตก็ดีขึ้นมาก ไม่มีความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รายได้จึงดีขึ้นตามไปด้วย” นางมะลิ กล่าว
ด้วยประสิทธิภาพการผลิตที่ดีและมีพัฒนาการด้านการเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง ทำให้มะลิฟาร์มมีการขยายการเลี้ยงหมูจากจำนวน 500 ตัวเมื่อเริ่มต้น วันนี้เลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ตัว ในโรงเรือน 7 หลัง และยังมีการต่อยอดสู่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้ระบบไบโอแก๊สจากขี้หมูทำให้ได้กระแสไฟฟ้ามาใช้ภายในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ที่สำคัญคือการได้ส่งผ่านความสำเร็จนี้ถ่ายทอดไปสู่ลูกชายคือ นายอนุจิตร รู้จบ ให้มีอาชีพที่มั่นคงต่อจากพ่อแม่
นายอนุจิตร บอกว่า การเลี้ยงหมูกับบริษัทถือว่าเป็นอาชีพที่ปราศจากความเสี่ยง เพราะบริษัทเข้ามารองรับให้หมด ทั้งเรื่องหาวัตถุดิบและหาตลาดให้ จึงมีรายได้ที่แน่นอน ที่ตามมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตที่มั่นคงได้ ก็เพราะการเลี้ยงหมู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความภาคภูมิใจในอาชีพที่พ่อแม่ทำ เขายอมรับว่าที่เรียนจบปริญญาโทก็เพราะอาชีพเลี้ยงหมู ที่สำคัญคือพ่อแม่ไม่ต้องลำบากอย่างเมื่อก่อน ตั้งแต่เลี้ยงหมูกับซีพีเอฟแม่ก็เลิกทำนาจึงไม่ต้องเครียดว่าจะต้องเจอกับภาวะขาดทุนอีก
“วันนี้เมื่อผมต้องมารับช่วงต่อก็ไม่ใช่เรื่องลำบากเพราะพ่อแม่ปูพื้นฐานไว้หมดแล้ว ยิ่งกับบริษัทผมมองว่าไม่ใช่เจ้าของกับลูกจ้างที่มีแต่เรื่องผลประโยชน์อย่างที่บางคนเข้าใจ สำหรับเราแล้วบริษัทเหมือนเป็นครอบครัวที่อบอุ่น แม้ผมจะเป็นลูกคนเดียวแต่ก็มีพี่ๆสัตวแพทย์ สัตวบาล หรือผู้บริหารที่คอยให้คำปรึกษากันตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องเลี้ยงหมู แต่ช่วยเหลือกันทั้งเรื่องส่วนตัวและอาชีพ” นายอนุจิตร กล่าวอย่างภูมิใจ
สำหรับการเลี้ยงหมูอนุบาล อนุจิต อธิบายว่า บริษัทจะส่งลูกหมูหย่านมอายุ 19 วัน ที่น้ำหนัก 6-6.5 กิโลกรัม มาให้เลี้ยงต่อโดยมีโปรแกรมการให้อาหารมาตรฐาน และมีการทำวัคซีนตามที่สัตวแพทย์ประจำฟาร์มกำหนด ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 45-50 วัน หมูจะมีน้ำหนักจับออกประมาณ 23-25 กิโลกรัม จากนั้นบริษัทจะนำหมูไปให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหมูขุนเลี้ยงต่อ จนได้เป็นหมูเนื้อจำหน่ายตอ่ไป โดยมีรายได้จากการเลี้ยงหมูอนุบาลประมาณ 100 บาทต่อตัว แต่ละปีเลี้ยงหมูได้ 5-5.5 รอบ
ด้าน นายธีรพงษ์ สมบัติหลาย ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจสุกรซีพีเอฟ บอกว่า มะลิฟาร์มถือว่าเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่มีแนวคิดที่ทันสมัยและกล้าลงทุน ไม่ว่าจะแนะนำเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่บริษัทได้ค้นคว้าพัฒนาและทดลองจนเห็นผลจริง ฟาร์มแห่งนี้ก็พร้อมจะนำมาปรับใช้ในฟาร์มมาโดยตลอด เมื่อเริ่มเร็วความสำเร็จก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ที่สำคัญ เกษตรกรกับบริษัทมีเป้าหมายร่วมกัน คือการผลิตหมูที่ได้มาตรฐานนำไปสู่อาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค เช่นเดียวกับเกษตรกรทุกๆรายที่ร่วมโครงการคอนแทร็กฟาร์มเลี้ยงสัตว์กับบริษัท
“มะลิฟาร์มถือเป็นเกษตรกรแนวหน้าที่ไม่เคยหยุดพัฒนา คอยหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และพร้อมที่จะนำเอาองค์ความรู้มาพัฒนางานจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตลอดเวลา ที่สำคัญคือเกษตรกรมีความขยัน ซื่อสัตย์ และมีหัวก้าวหน้า ที่ผ่านมาที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเพื่อนเกษตรกรที่สนใจจะเริ่มต้นในอาชีพนี้ที่หมุนเวียนเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง” นายธีรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งช่วยตอกย้ำให้เห็นถึงที่มาของความสำเร็จของมะลิฟาร์มได้เป็นอย่างดี