ASTVผู้จัดการออนไลน์ -ซีพีเอฟ แนะแนวทางฟื้นฟูฟาร์มเลี้ยงสัตว์หลังน้ำท่วม ชี้วางแผนป้องกันน้ำล่วงหน้าช่วยพ้นวิกฤต
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการ อาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนใน 43 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพื้นการเกษตรที่ประสบอุทกภัยกว่า 3.6 ล้านไร่ ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งภาคปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเพาะปลูก ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขังใน 15 จังหวัด ซีพีเอฟ จึงมีคำแนะนำในการฟื้นฟูพื้นที่การเลี้ยงสัตว์หลังน้ำลด ตลอดจนแนวทางการป้องกันปัญหาน้ำท่วมสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์
น.สพ.นรินทร์ กล่าวถึงการฟื้นฟูฟาร์มในภาคปศุสัตว์หลังผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมว่า เกษตรกรควรตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งสัตว์เลี้ยง โรงเรือน อุปกรณ์ และรอบบริเวณฟาร์ม ทำการซ่อมแซมในจุดที่เสียหายให้เรียบร้อย พร้อมปรับปรุงสภาพโรงเรือนให้ถูกสุขลักษณะปลอดภัยจากโรคระบาด โดยเร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโรงเรือน และอุปกรณ์ต่างๆ หลังพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อต้องปิดพักโรงเรือนตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนดที่อย่างน้อย 21 วัน เพื่อให้พร้อมนำสัตว์เข้าเลี้ยงใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยปกติเกษตรกรจะไม่ทำการเลี้ยงสัตว์ต่อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่ และสุกรพ่อ-แม่พันธุ์ ที่มีระยะเวลาการเลี้ยงนาน ซึ่งยากต่อการจัดการเคลื่อนย้ายเมื่อเกิดน้ำท่วม แต่หากเกษตรกรตัดสินใจว่าจะเลี้ยงสัตว์ต่อไป แนะนำให้ยกระดับความสูงของคอก หรือกรงเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น จากระดับน้ำท่วมสูงสุดอีกประมาณ 1 เมตร และควรทำแนวคันดิน หรือเขื่อนดินขนาดเล็กป้องกันน้ำรอบฟาร์ม เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป
นอกจากนี้ เกษตรกรควรดำเนินการขอความช่วยเหลือไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
สำหรับการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงหลังจากน้ำลด ในกรณีที่ทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งสัตว์เลี้ยงอาจถูกเลี้ยงรวมกับสัตว์ประเภทอื่น ทำให้สัตว์เกิดภาวะเครียด และอาจเกิดโรคตามมา โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร
ดังนั้น เมื่อนำสัตว์กลับเข้าเลี้ยงในฟาร์มเดิม เกษตรกรต้องทำความสะอาดตัวสัตว์ พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อที่สามารถใช้กับสัตว์ได้ และควรให้ความอบอุ่นแก่สัตว์ในช่วงแรกเพื่อให้ปรับตัวกับโรงเรือนใหม่ จากนั้นจึงปรับอุณหภูมิโรงเรือนให้เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์แต่ละชนิด
นอกจากนี้ อาจให้วิตามิน หรือเกลือแร่เสริมให้สัตว์กินตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สัตว์ฟื้นตัวจากความเครียดที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายได้เร็วขึ้น ส่วนสัตว์ที่เกิดการเจ็บป่วยควรแยกเลี้ยง และทำการรักษาตามอาการ
นอกจากนี้ เกษตรกรต้องดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง และหากจำเป็นต้องลงในพื้นที่น้ำท่วมขัง ควรสวมรองเท้าบูตทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคสัตว์ที่สามารถติดต่อถึงคน และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ ไม่ควรนำสัตว์ตายมารับประทาน หรือชำแหละจำหน่าย และต้องกำจัดซากสัตว์ตายอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสซากสัตว์โดยตรง กรณีสัตว์ขนาดเล็กควรนำใส่ถุงดำผูกปากถุงให้แน่น นำไปฝัง หรือให้หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่นำไปกำจัด หากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อทำการเคลื่อนย้าย หรือกำจัดซากสัตว์ให้ถูกต้อง
น.สพ.นรินทร์ ยังเปิดเผยถึงแนวทางป้องกันอุทกภัยสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ว่า เริ่มตั้งแต่การสร้างฟาร์มบนพื้นที่ดอน ที่น้ำท่วมไม่ถึง และสะดวกต่อการระบายถ่ายเทของเสียออกจากโรงเรือน ควบคู่กับการพิจารณาประวัติการเกิดน้ำท่วมในช่วง 10-20 ปี โดยสอบถามข้อมูลจากส่วนราชการในพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่อำเภอ อบต.
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางฟาร์มที่แต่เดิมอยู่บนที่ดอน แต่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางของน้ำ อันเนื่องมาจากการขยายการคมนาคม เช่น ตัดถนนใหม่ หรือเสริมแนวถนนให้สูงขึ้น ต้องเก็บข้อมูลระดับน้ำ และภาวะน้ำท่วมเพื่อใช้ในการวางแผนการเลี้ยงสัตว์ช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ หากคาดการณ์สถานการณ์น้ำแล้วพบว่า มีความเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการนำสัตว์เข้าเลี้ยง ส่วนฟาร์มที่นำสัตว์เข้าเลี้ยงแล้ว และคาดว่าอาจเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน จะต้องรีบเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัยก่อน และจัดเตรียมน้ำสะอาด พร้อมอาหารสัตว์ ยาและเวชภัณฑ์ไว้อย่างเพียงพอ และหมั่นสังเกตอาการป่วยของสัตว์
กรณีพบสัตว์ป่วยให้แยกสัตว์ออกจากฝูง และแจ้งขอความช่วยเหลือจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน
สำหรับการนำสัตว์เข้าเลี้ยงในเขตพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ควรพิจารณางดการเข้าเลี้ยงสัตว์ในช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงว่าอาจจะเกิดน้ำท่วม โดยวางแผนตามระยะเวลาการเลี้ยงของสัตว์แต่ละชนิด เช่น การเลี้ยงสุกรขุน ต้องวางแผนล่วงหน้าประมาณ 4.5-5 เดือน, การเลี้ยงไก่กระทง ควรวางแผนล่วงหน้า ประมาณ 2 เดือน เป็นต้น
“ภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจของซีพีเอฟ ทั้งในส่วนของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท และของเกษตรกร ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์กว่า 5,000 รายทั่วประเทศ แม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม เนื่องจากมีการเตรียมพร้อม และวางแผนป้องกันเหตุอุทกภัยล่วงหน้าอย่างเข้มงวด ที่สำคัญคือ การให้ความรู้ด้านการป้องกันน้ำท่วมแก่เกษตรกรพร้อมดูแลอย่างใกล้ชิด และร่วมกันวางแผนการเลี้ยงสัตว์อย่างรัดกุม” น.สพ.นรินทร์ กล่าว