ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ชลประทานที่ 8 โคราชมั่นใจรับมือพายุ “นารี” ได้แน่ ยันไม่พร่องน้ำใน 3 เขื่อนใหญ่โคราชแม้เต็มความจุแล้ว เหตุไม่อยากซ้ำเติมพื้นที่ถูกน้ำท่วมอีก เผยของบ 600 ล้านปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิงให้รับน้ำได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม.แก้น้ำท่วมโคราชได้ถาวร ชี้เขื่อนลำตะคองยังรับน้ำได้อีกมาก จึงไม่น่าห่วงน้ำท่วมเมือง
วันนี้ (14 ต.ค.) นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการในพื้นที่ จ.นครราชสีมาและแผนการรับมือกับพายุนารี ซึ่งจะมีผลทำให้ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 15-19 ต.ค.นี้ในพื้นที่ภาคอีสาน ว่า ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 5 โครงการ มีจำนวน 874.24 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 93.19% ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม.
โดยมี 3 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำเกินความจุ คือ เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 114.16 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 104.13 ของความจุ ที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 307 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 111.64 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 98.58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 100.59 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 224.84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71.49 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 30% ของความจุ หากมีฝนตกลงมาอีกก็สามารถรับน้ำได้อีกมากไม่น่าเป็นห่วงและมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2553 แน่นอน ขณะที่เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 129.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 91.96 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ ของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำรวม 221.15 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97.54% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 226.74 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการเตรียมแผนรับมือพายุนารีนั้น นายชิดชนก กล่าวว่า ได้มีการเตรียมการรับมือไว้อย่างเต็มที่ โดยที่สำนักชลประทานที่ 8 ได้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ประมวลสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งของจ.นครราชสีมาและพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามดูว่าพายุจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือสลายตัว
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์คาดว่า พายุนารีจะเข้ามาสลายตัวอยู่ในประเทศไทย จุดศูนย์กลางอยู่ที่ภาคอีสานตอนเหนืออาจส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา แต่เป็นปริมาณที่น้อย แต่เราไม่ประมาทได้เตรียมแผนรองรับ โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้วจะไม่มีการพร่องน้ำออกจากอ่าง แต่จะปล่อยให้ล้นไปตามธรรมชาติ และหากมีฝนตกลงมาเพิ่มก็ให้ล้นไปตามลำน้ำธรรมชาติ เพราะหากพร่องน้ำแล้วจะทำให้ประชาชนที่อยู่ด้านล่างเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ลุ่มโดยเฉพาะ อ.พิมาย ซึ่งเป็นที่รับน้ำจากเขื่อนต่างๆ จะได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม เป็นการไปซ้ำเติมประชาชนเข้าไปอีก
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าแม้จะไม่มีการพร่องน้ำออกและมีน้ำมาเติมอีกจากฝนที่จะตกเพิ่ม แต่ทั้ง 3 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกินขนาดความจุดังกล่าว ยังมีความแข็งแรงมากพอ ไม่มีปัญหาร้าวหรือแตกแน่นอน ขอให้ประชาชนสบายใจได้
นายชิดชนก กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้เสนอขอเงินงบประมาณ 600 ล้านบาท ผ่าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่เดินทางมาตรวจสภาพน้ำเมื่อวานนี้ เพื่อดำเนินการปรับปรุงเขื่อนลำพระเพลิง ให้มีความจุน้ำเพิ่มอีก 50 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.พิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำจากแม่น้ำทุกสายของจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาน้ำท่วมทุกปี หากเขื่อนลำพระเพลิงสามารถเก็บน้ำได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม.ปัญหาน้ำท่วมก็จะหมดไป