xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนใหญ่โคราชพร้อมรับมือพายุลูกใหม่-ลั่นไม่ท่วมซ้ำรอยปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชลประทานที่ 8 เผย 5 เขื่อนใหญ่โคราชยังรับได้อีกกว่า 40% ของความจุ หากพายุลูกใหม่เข้าอีกรับมือได้สบาย ยันน้ำไม่ท่วมโคราชครั้งใหญ่ซ้ำรอยปี’53 แน่ เหตุมีอาคารผันน้ำออกนอกเมือง ส่วนน้ำท่วมขณะนี้เกิดจากฝนตกใต้เขื่อนแต่สามารถระบายลงลำมูลได้เร็ว ระบุปัญหาสำคัญลุ่มน้ำลำตะคอง คือฝายชาวบ้านขวางทางน้ำ กว่า 30 แห่ง

วันนี้ (26 ก.ย.) ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 5 เขื่อนในจังหวัดนครราชสีมาว่า ล่าสุดสถานการณ์น้ำใน จ.นครราชสีมาหลังเกิดฝนตกหนักช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทุกอ่าง เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำสำคัญในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองนครราชสีมา ขณะนี้ปริมาณน้ำ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นเกือบ 50% ของขนาดความจุอ่าง 314 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี, เขื่อนลำแชะ อ.เสิงสาง, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ก็มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทุกอ่าง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีน้ำใช้ไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า

อย่างไรก็ตาม หากมีพายุเข้ามาอีกหรือร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านก็ยิ่งเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 40% แต่หากฝนตกด้านท้ายเขื่อนได้มีการเตรียมการไว้แล้วเช่นกันในเรื่องการผันน้ำไปตามจุดที่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม จึงฝากเตือนไปถึงพี่น้องประชาชนว่าไม่ต้องวิตกกังวล อาจมีท่วมบ้างแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถเร่งระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำมูลได้รวดเร็ว ขณะนี้แม่น้ำมูลระดับน้ำค่อนข้างต่ำกว่าตลิ่งอยู่มาก การเร่งระบายน้ำเพื่อลงแม่น้ำสายหลักอย่างแม่น้ำมูลสามารถลดภาวะน้ำท่วมได้รวดเร็วขึ้น

ม.ล.อนุมาศกล่าวอีกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่โคราชเมื่อปี 2553 เพราะมีปริมาณฝนตกทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนมากกว่า 200 มิลลิเมตร จึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าการระบายน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่ภายหลังจากปี 2553 ได้รับงบประมาณเข้ามาและเร่งแก้ปัญหาในส่วนที่สำคัญๆ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำสาขาต่างๆ ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำหลายจุด และรื้อย้ายสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารแบ่งน้ำที่ละลมหม้อ อ.ขามทะเลสอ ใช้ได้ผลดีเพราะสร้างเป็นอาคารควบคุมน้ำที่เข้าลำตะคอง ผ่านเข้าเมืองโคราช และแยกไปลำบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นหากน้ำท้ายเขื่อนลำตะคองลงมามากก็สามารถผันน้ำไปทางลำบริบูรณ์ได้ ซึ่งระบบต่างๆ สามารถช่วยได้มาก

“ขณะนี้ที่เป็นปัญหามากคือสิ่งกีดขวางทางน้ำลำตะคอง เช่น ฝายชาวบ้านตลอดลำตะคอง ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว ถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ มีประมาณ 30 แห่ง ต้องแก้ไขทั้งหมด โดยใช้งบประมาณดำเนินการประมาณแห่งละ 10 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อเร่งแก้ปัญหาต่อไป” ม.ล.อนุมาศกล่าว
สภาพน้ำท่วม พื้นที่ อ.คง จ.นครราชสีมา อยู่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น