xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำอุบลวอล์กเอาต์เวทีแชร์ความเห็นสร้างเขื่อนไชยะบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดินรณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนไชยะบุรี
อุบลราชธานี - ชาวบ้านเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของอุบลฯ ไม่สนใจแสดงความเห็นร่วมเวทีที่กรมทรัพยากรน้ำจัด มองเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรม แต่ไม่แก้ปัญหาแท้จริง วอล์กเอาต์ออกห้องประชุม ด้านสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงเห็นเป็นเรื่องเสียโอกาสของชาวบ้านที่จะเสนอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับชุมชน เพื่อระดมปัญหาใช้เป็นฐานข้อมูลจัดการกับเขื่อนอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามลำน้ำโขง

วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ ประมาณ 150 คน เดินรณรงค์ในอำเภอไม่เอาเขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนอื่นๆ ที่กำลังจะสร้างขึ้นตามลำน้ำโขงอีกเกือบ 10 โครงการ พร้อมอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ไม่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำในแม่น้ำโขง

นางคำปิ่น อักษร แกนนำของเครือข่ายระบุถึงสาเหตุไม่เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นที่สำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดขึ้น เพราะไม่ต้องการไปรับรองความชอบธรรมของหน่วยงานที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนปิดกั้นลำแม่น้ำโขง เนื่องจากทราบกันดีว่า เขื่อนไชยะบุรี แม้สร้างในประเทศลาว แต่เงินทุนใช้ก่อสร้างเป็นของนักลงทุนไทย ทั้งบริษัท ช.การช่าง และสถาบันการเงินของไทย

นอกจากเขื่อนไชยะบุรี ที่เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของไม่ยอมรับแล้ว ยังมีอีกเขื่อนที่ทางการลาวประกาศชัดเจนในเดือนหน้าจะเริ่มลงมือสร้างอีกคือ เขื่อนดอนสะหง ซึ่งอยู่ติดชายแดนลาว-กัมพูชา โดยเขื่อนแห่งนี้จะสร้างผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำในลำน้ำโขงอย่างมาก เพราะปิดกั้นเส้นทางเดินของสัตว์น้ำทุกชนิดที่จะว่ายจากปลายน้ำแม่น้ำโขงในประเทศลาวขึ้นมาต้นน้ำในประเทศไทย เครือข่ายฯ มองว่าการมาจัดเวทีครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมมากกว่าเน้นจะแก้ปัญหา

หลังชาวบ้านประกาศไม่เข้าร่วมแสดงความเห็นในเวที ทำให้เหลือเพียงตัวแทนจากหน่วยงานกรมเจ้าท่า ชลประทานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ถึง 20 คน โดยแสดงความเป็นห่วงว่าเขื่อนไชยะบุรี จะทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพ มีการเปลี่ยนระบบนิเวศวิทยาทางน้ำ ทำให้มีการกัดเซาะตลิ่ง มีระดับน้ำลดลง ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร จากการอพยพของพันธุ์ปลาที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านนางผกาวรรณ จุฬามาณี คณะทำงานฝ่ายเลขาแม่น้ำโขง และอดีตเป็นผู้อำนวยการการสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง กล่าวถึงการปฏิเสธเข้าร่วมของชาวบ้านจะทำให้ไม่มีโอกาสเสนอผลกระทบที่จะเกิดจากการสร้างเขื่อนไชยะบุรี เพราะต้องยอมรับว่า เขื่อนนี้อย่างไรก็ต้องสร้าง เพราะเป็นสิทธิของประเทศลาว และทางไทยจะได้ใช้ข้อมูลผลกระทบที่ได้รับจากชาวบ้านแจ้งให้ทางลาวรับไปแก้ปัญหาได้ตามที่มีข้อตกลงไว้ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้

รวมทั้งใช้ผลของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำทั้ง 8 จังหวัดของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลดำเนินการกับเขื่อนอีกหลายแห่งที่จะสร้างขึ้นในลุ่มน้ำนี้ในอนาคตด้วย

นางคำปิ่น อักษร แกนนำของเครือข่ายคนฮักน้ำของ
นางผกาวรรณ จุฬามาณี คณะทำงานฝ่ายเลขาแม่น้ำโขง และอดีตเป็นผู้อำนวยการการสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง
กำลังโหลดความคิดเห็น