ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คณะหมอลำทั่วอีสานเห็นพ้องร่วมกันบอยคอตค่ายเพลงยักษ์ บมจ.แกรมมี่ “ไม่จ่าย ไม่ร้อง ห้ามนักร้องแกรมมี่ขึ้นเวที” หลังถูกจ้องรีดค่าลิขสิทธิ์อย่างหนัก ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาเหมือนกับวงดนตรีเครื่องเสียงภาคกลางที่ลงมติกันไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม มข. ลั่นพร้อมให้ความช่วยเหลือศิลปินหมอลำพื้นบ้านเต็มที่หากถูกทุนนิยมรังแก ย้ำหมอลำหมอแคนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นจิตวิญญานของศิลปินพื้นบ้านที่ควรร่วมกันอนุรักษ์
บ่ายวันนี้ (5 ต.ค.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น กลุ่มศิลปินหมอลำ หมอแคน ในหลายจังหวัดภาคอีสาน ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนหารือถึงทางออกของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ของค่ายเพลงใหญ่ที่เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์กรณีที่คณะหมอลำ หรือศิลปินในคณะนำผลงานเพลงในค่ายไปร้องแสดงในที่สาธารณะ โดยมีศิลปินคณะหมอลำทั้งคณะใหญ่แสดงทั่วประเทศ และคณะเล็กที่แสดงในท้องถิ่นภาคอีสานเข้าร่วมหารือถึงการหาทางออกในเรื่องดังกล่าวอย่างคับคั่ง
ทั้งนี้ กลุ่มศิลปินหมอลำภาคอีสานต้องการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายลิขสิทธิ์ ได้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บรายได้ของบริษัทเจ้าของค่ายเพลง ที่ศิลปินวงหมอลำนำมาแสดง ในเทศกาลงานบุญประเพณีต่างๆ ซึ่งรายได้ที่รับจากเจ้าภาพว่าจ้างให้ไปแสดงนั้นไม่มากนัก บางครั้งขาดทุนก็ต้องไปแสดงด้วยความเป็นศิลปินหมอลำ แต่หากค่ายเพลงเรียกเก็บรายได้สูงๆ เช่นปัจจุบัน กลุ่มศิลปินหมอลำอีสานคงไม่สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงได้ และในอนาคตไม่รู้จะรักษามรดกอีสานให้คงอยู่ได้อย่างไร
ดร.ประมวล เสติ นักวิจัยศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น เปิดเผยว่า การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงใหญ่มีการจัดเก็บในอัตราสูงที่มาก เริ่มจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดค่าจัดเก็บในอัตรา 20 เพลง 250,000 บาท ต่อปีจากคณะหมอลำทุกคณะที่นำผลงานเพลงของนักร้องในค่ายแกรมมีไปเล่นบนเวที ซึ่งถือเป็นอัตราจัดเก็บที่สูงมาก
จุดที่ศิลปินหมอลำภาคอีสานกังวลคือ เมื่อค่ายแกรมมี่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แล้ว ค่ายเพลงอื่นๆ ย่อมต้องเรียกจัดเก็บเช่นกัน และที่น่าเป็นห่วงมากคือ คณะหมอลำคณะเล็กๆ ในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีรายได้จากการแสดงน้อยอยู่แล้ว จะหาเงินจากไหนมาจ่ายให้แก่ค่ายเพลงเหล่านี้ ที่ผ่านมา ค่ายเพลงเริ่มจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 หากวงหมอลำคณะไหนไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์จะต้องถูกปรับเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ค่ายเพลงใหญ่ได้จัดเก็บลงลึกไปถึงการเปิดเพลงในงานประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น งานบวช งานแต่งงาน ซึ่งเจ้าภาพที่จัดงานไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงด้วย
เฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง มีคณะหมอลำขนาดต่างๆ รวมกันกว่า 70 คณะ โดยวงใหญ่มีประมาณ 5-6 วง ต่างได้รับความเดือดร้อนจากจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของค่ายแกรมมี่ จึงต้องมาหารือถึงทางออกของศิลปินหมอลำในเรื่องการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในเวทีวันนี้ ทั้งได้เชิญศิลปินในพื้นที่ภาคกลางมาร่วมหารือด้วย ซึ่งข้อสรุปของศิลปินวงดนตรีเครื่องเสียงภาคกลางมีความชัดเจนไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ 1.ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ 2.ไม่เล่นผลงานของค่ายแกรมมี่ และ 3.ไม่จ้างศิลปินค่ายแกรมมี่ขึ้นเวทีในพื้นที่ภาคกลาง
สำหรับผลการหารือในที่ประชุมคณะหมอลำในภาคอีสานก็มีมติร่วมกันชัดเจนแล้วเหมือนกับข้อตกลงของกลุ่มวงดนตรีเครื่องเสียงภาคกลาง คือ ต่อไปนี้จะไม่เล่นเพลงของนักร้องค่ายแกรมมี่ จะไม่ยอมให้นักร้องค่ายแกรมมี่ขึ้นเวที และจะไม่มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ค่ายแกรมมี่เด็ดขาด
ด้าน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่าในฐานะนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม และในฐานะลูกอีสานคนหนึ่งรับไม่ได้กับการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากคณะหมอลำ หมอแคนของบรรดานายทุนค่ายเพลงใหญ่ๆ ไม่ปฏิเสธว่าในทางกฎหมายบริษัทค่ายเพลงมีสิทธิเต็มที่ที่จะเรียกเก็บลิขสิทธิ์จากการที่หมอลำพื้นบ้านนำไปร้องในงานแสดง แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าการแสดงของคณะหมอลำ หมอแคน หมอพิณเหล่านี้เขาเล่นตามงานบุญ งานบวชที่ชุมชนหมู่บ้านในท้องถิ่นจ้างไปร่วมสร้างสีสันของงาน มีการนำเพลงดังๆ ที่อยู่ในกระแสไปร้องเพื่อความเพลิดเพลินของชาวบ้าน และไม่ได้จ้างกันแพงมากมาย
ที่สำคัญการแสดงหมอลำของคณะหมอลำตามงานบุญ งานบวชตามชุมชนต่างๆ นั้นถือได้ว่าเป็นการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาทางศิลปะการแสดงของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา เป็นวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ควรจะร่วมกันส่งเสริม การแสดงหารายได้ของคณะหมอลำทางหนึ่งก็เป็นการหาเลี้ยงชีพที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจมากมาย พอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน การร้องหมอลำก็เป็นเหมือนชีวิตวิญญานของพวกเขาเช่นกัน
“คณะหมอลำก็มีหลายระดับ หมอลำส่วนใหญ่ทั่วไปคณะเล็กๆ รับงานแต่ละปีเฉพาะช่วงออกพรรษาออกร้องออกรำเพราะใจรัก เงินค่าจ้างแต่ละงานไม่ได้มากมาย พอแบ่งกันได้กินได้ใช้เก็บเป็นทุนทำไร่ทำนา แต่ก็มีคณะหมอลำบางส่วนออกแสดงทั้งปีทำเป็นธุรกิจ เป็นหมอลำทุนนิยมเต็มตัว ดังนั้น ค่ายเพลงควรจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป อย่าเหมารวม จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านวิถีท้องถิ่นที่เขาสืบทอดกันมานานต้องล่มสลายเพราะคำว่าลิขสิทธิ์เท่านั้น” รศ.ดร.นิยมกล่าวและว่า
กฎหมายเมื่อร่างขึ้นมาได้ก็ต้องแก้ไขได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หากสังคมไทยยังต้องการอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม และฝ่ายบริหารดูแลงานด้านชุมชนสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคณะพี่น้องศิลปินพื้นบ้านทุกทางเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม