สะเทือนวงการหมอลำไทย หลังแกรมมี่ประกาศกร้าวเก็บค่าลิขสิทธิ์ทำเอาชาวหมอลำป่วน เกิดการรวมตัวเพื่อแสดงจุดยืน “ไม่จ่าย ไม่ร้อง ห้ามนักร้องแกรมมี่ขึ้นเวที” ประกาศศึกกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่างไม่กลัว
แกรมมี่ลั่น 250,000 แลกเพลง
ดูเหมือนเหตุการณ์เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากแกรมมี่ในราคาแพงหูฉี่ กำลังจะกลายเป็นไฟลามทุ่งเสียแล้ว หลังมีการต่อต้านออกมาจากชาวหมอลำ กรณี ค่ายเพลง “แกรมมี่” ใช้นโยบายเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ในอัตรา 250,000 บาท ต่อการนำเพลงของบริษัทฯ ไปใช้ในการแสดงบนเวทีไม่เกิน 20 เพลง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา หากเกินกว่านั้นต้องเสียเพิ่ม โดยในขณะนี้ มีข้อสรุปเบื้องต้นว่า หากบริษัทแกรมมี่ยังยืนยันเก็บค่าลิขสิทธิ์ในอัตรานี้ อาจไม่มีการเล่นเพลงของบริษัทฯ รวมไปถึงการไม่ให้ศิลปินแกรมมี่ขึ้นเวทีหมอลำคนอีสานด้วย
กระนั้น เสียงเล็กๆ จากเหล่าคนหมอลำก็หาได้กระเทือนกับค่ายเพลงนี้แต่อย่างใด หนำซ้ำ กษม อดิศัยปัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยังกล่าวแบบไม่สะทกสะท้านอีกด้วยว่า การค้า เจ้าของสิทธิ์คือผู้สร้างสรรค์นั้นๆ ก็ต้องได้ผลประโยชน์ด้วย ส่วนบุคคลอื่นๆ ถ้าจะนำเพลงไปใช้ทางการค้าก็ต้องถูกเก็บค่าลิขสิทธิ์
“ส่วนที่บอกว่า จะไม่จ่าย ไม่เล่น และไม่ให้นักร้องแกรมมี่ขึ้นเวที ผมนับถือเขานะ เพราะถ้าคุณไม่เล่นเพลงเรา คุณก็ไม่ต้องจ่ายเรา มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนที่จะไม่ให้ศิลปินเราขึ้นเวที หรือไม่ให้ใช้เวที แสง สี เสียงของคุณ คุณต้องคุยกับผู้จัดงานว่าจะเอากันแบบนี้หรือเปล่า ขอฝากทางผู้จัดงานด้วยว่าเงื่อนไขแบบนี้ทางผู้จัดงานเห็นด้วยหรือไม่ ผมขอฝากไว้ว่า เพลงเป็นหัวใจของการแสดงสด คุณไปทุ่มเรื่องแสงสีเสียงเวทีให้อลังการได้ แต่คุณไม่มีการพูดหรือนึกถึงเรื่องลิขสิทธิ์เพลงเลย ผมว่ามันงงนะครับ เรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้ต่างประเทศทำกันมานานแล้ว แต่บ้านเรายังเป็นเรื่องใหม่อยู่ ยังไงขอย้ำว่าเราพร้อมเจรจาเป็นรายๆ หรือรวมกันมาเพื่อเจรจาก็ได้ เพราะนี่เป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย”
อีกประการหนึ่งคือจำนวนเงินที่ต้องแลกค่ากับลิขสิทธิ์ ถึงแม้จะมีการออกมาแก้ข่าวแล้วว่าตัวเลขหลักแสนแลกกับค่าลิขสิทธิ์เพลงไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่สรุปสุดท้ายก็ต้องจ่ายอยู่ดี จะมากจะน้อยก็ต้องพิจารณากันไป “กรณีการนำงานเพลงไปขับร้องและทำการแสดงที่เป็นข่าวทาง Social Media นั้นผิดเพี้ยนจากความจริงมาก เนื่องจากบริษัทฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดค่าตอบแทนอัตราค่าลิขสิทธิ์ภายใต้หลักสากล คือ คำนวณจากราคาบัตรคูณด้วยจำนวนบัตรเพื่อคิดมูลค่ารายได้ แล้วนำมูลค่ารายได้คูณด้วยอัตราค่าลิขสิทธิ์เพลงละ 0.5% เพื่อคิดค่าลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเช่น ราคาบัตรใบละ 60 บาท คูณจำนวนบัตร 1,000 ใบ เท่ากับมีมูลค่ารายได้ 60,000 บาท คูณด้วย 0.5% ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 300 ซึ่งหมายถึงค่าลิขสิทธิ์ต่อเพลง”
อย่างไรก็ดี ชาวคณะหมอลำทั้งหลายก็เสียความรู้สึกกับพ่อค้าหน้าเลือดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง แกรมมี่ ไปเสียแล้ว ในเมื่อรายได้จากการเล่นหมอลำแต่ละครั้ง ต้นทุนก็สูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเวที อุปกรณ์แสง-สี-เสียง ยิ่งถ้ากับคณะหมอลำเล็กๆ กำไรยิ่งหาแทบไม่มี ดังนั้นจึงมีการนำเสนอทางออกให้ค่ายเพลงพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป อย่าเหมารวม จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านวิถีท้องถิ่นที่เขาสืบทอดกันมานานต้องล่มสลายเพราะคำว่าลิขสิทธิ์เท่านั้น
จวก “แกรมมี่” หน้าเลือด
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เรียกได้ว่าสร้างความขุ่นเคืองกับวงการหมอลำได้ไม่น้อย การเก็บเงินลิขสิทธิ์เพลงหมอลำ อาจส่งผลเป็นวงกว้าง และยิ่งเป็นเหมือนการซ้ำเติมคณะหมอลำเล็กๆ ให้ไม่มีทางทำมาหากิน ทั้งนี้ อ.ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน รอง ผอ.สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ถึงแม้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์จะเรียกเก็บ แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วยหรือไม่ มิใช่เพียงคำนึงถึงรายได้ที่จ้องจะกอบโกยเพียงอย่างเดียว
“จริงๆ แล้ว เรื่องการเก็บลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงมันก็เป็นเรื่องปกตินั่นแหละครับ แต่ถ้ามองในมุมของเพลงพื้นบ้าน คนพื้นบ้าน-คณะหมอลำ เขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเอาเพลงที่มีลิขสิทธิ์มาเป็นจุดขายในการโชว์อยู่แล้ว แต่จะมองเรื่องการเอาเพลงมาเล่นเพื่ออนุรักษ์ เป็นเรื่องของภูมิปัญญามากกว่า
พูดกันตามตรง อยากให้มองย้อนกลับไปดูว่าจริงๆ แล้วค่ายเพลงเองก็เอาภูมิปัญญาของวัฒนธรรมอีสานไปใช้ในงานของตัวเองเยอะแยะ ภูมิปัญญาของคนอีสาน-หมอลำ เอาไปทำเพลงกันเยอะมาก แต่คนอีสานก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์อะไรเลย เช่น เรื่องทำนองของดนตรีที่ไปปรากฏอยู่ในเพลงหมอลำในค่ายเพลง เช่น ทำนอง “ลำเพลิน” ทำนอง “ลาวแพน” สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่คนอีสานสร้างไว้ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าจะต้องไปเรียกลิขสิทธิ์อะไรจากค่ายเพลงเลย เรามองว่ามันคือเพลง เป็นการร่วมกันเอามาสืบสานภูมิปัญญามากกว่า
พอเห็นข่าวนี้ ผมก็เป็นห่วงศิลปินอีสานเราอยู่นะ โดยเฉพาะในจุดของผม ผมรับผิดชอบเรื่องการศึกษาการแสดงพื้นบ้านในรั้วมหาวิทยาลัย ผมจะไปบอกให้ลูกศิษย์เอาไปประยุกต์อย่างเต็มปากได้ยังไงครับ ในเมื่อมันมีข้อแม้เรื่องนี้อยู่ เพราะสเต็ปของการแสดงโดยปกติของดนตรีแนวหมอลำ มันก็ต้องประกอบไปด้วยแนวลูกทุ่ง-หมอลำ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว
อีกอย่าง ถ้าเกิดไม่มีศิลปินหมอลำเหล่านี้ ผมว่าเพลงที่ติดลิขสิทธิ์ในค่ายอาจจะไม่ดังเท่านี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ผมมองว่าการแสดงของคณะหมอลำเป็นการช่วยส่งเสริม ช่วยโปรโมตให้ค่ายเพลงมากกว่าด้วยซ้ำ ไม่น่าจะไปเรียกค่าลิขสิทธิ์แพงขนาดนั้น”
อย่างไรก็ดี การเก็บค่าลิขสิทธิ์อาจถูกต้องตามกฎหมายระบุ เจ้าของลิขสิทธิ์ทีสิทธิ์เต็มที่ในผลงานเพลงดังคำอธิบายของ พิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการและฝ่ายวิชาการด้านลิขสิทธิ์ สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า
“ในแง่ของกฎหมายก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้วครับ สมมุติว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานเพลง เจ้าของลิขสิทธิ์แต่งเพลงขึ้นมา เค้าก็จะมีสิทธิ์ในการเผยแพร่ ส่วนการที่ผู้อื่นจะนำเอาเพลงไปใช้ เค้าก็มีสิทธิ์ที่จะจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์นั่นแหละครับ
เพียงแต่ว่าสมัยก่อนอาจจะไม่เคยได้จัดเก็บ พอมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ขึ้นมา ก็ต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงว่า การนำเพลงคนอื่นไปใช้หาประโยชน์ หารายได้อะไรต่างๆ ขึ้นมา หรืออาจจะไม่ใช่รายได้ที่เป็นตัวเงินก็ตาม อย่างเช่นการมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน ก็อยู่ในความหมายของคำว่า การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ตรงนี้ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เค้า เพราะมันเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์พึงมี พึงได้”
ถึงถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ
อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องนำมาขยายและทำความเข้าใจกัน เรื่องของจำนวนเงินที่ต้องจ่ายไป คือเรื่องที่พิเศษกล่าวว่า น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวหมอลำต้องมารวมตัวกันเพื่อคัดค้านการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
“ประเด็นปัญหามันน่าจะอยู่ตรงที่เรื่องของราคามากกว่านะครับ ว่าตกลงกันได้เท่าไหร่ แล้วอีกอย่างนึง ผมว่าที่มันเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะทางหมอลำที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านเนี่ย น่าจะเป็นเรื่องที่ควรอนุรักษ์สืบสานไว้ เพราะการแสดงหมอลำก็คงไม่ได้มีกำไรมาก คือคณะหมอลำเค้าก็ทำเพื่อการค้าอยู่แล้ว แต่ส่วนกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย มันก็คงไม่ได้มีมากมายอะไร
ถ้ามองถ้าฝั่งเจ้าของลิขสิทธิ์เค้าก็ถูก เค้าก็มีสิทธิ์ แต่อีกฝั่งนึงก็มองว่าการนำเอาเพลงไปใช้มันไม่ได้ร้ายแรงอะไร ไม่ได้กำไรมากมาย ทำไมต้องมาเอากับเค้า ซึ่งผมก็ดูว่าติดอยู่แค่เรื่องราคา ถ้ามีการตกลงกันได้ ราคาที่พึงพอใจกันทั้งสองฝ่ายมันก็จบ”
ด้าน อ.ดร.สุรพล ก็ตัดพ้อว่า การกระทำของแกรมมี่ครั้งนี้ อาจทำให้รายได้ของชาวหมอลำถดถอยลงไปอีก เมื่อคนฟังก็อยากฟังเพลงฮิตๆ แต่ติดเรื่องลิขสิทธิ์ เมื่อเล่นเพลงไม่ได้ เหล่าคนฟังก็เลือกที่จะไปดูกับวงอื่นๆ ทำให้คณะหมอลำเล็กๆ เสียรายได้
“เห็นว่า 20 เพลงต้องจ่าย 2 แสน 5 ถือว่าสูงมากเลยนะสำหรับคณะหมอลำที่มีรายได้นิดเดียว แล้วต้องมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงให้ค่ายเพลงแบบนี้ ซึ่งผมว่ามันจะมีผลกระทบอยู่ เพราะเวลาเอาเพลงของศิลปินที่มีชื่อเสียงในค่ายเพลง อย่างศิลปินที่อยู่ในค่ายแกรมมี่ ออกมาโชว์ ผู้ชมก็จะให้ความสนใจ ถ้าต่อไป คณะหมอลำต่างๆ ไม่เล่นเพลงของแกรมมี่ ก็อาจจะส่งผลให้งานของคณะหมอลำลดลงด้วยส่วนหนึ่ง เพราะคนที่มาดูการแสดง เขาก็อยากฟังเพลงฮิตๆ ในช่วงนั้นด้วย ทำให้กระทบต่อรายได้ของหมอลำครับ
ผมว่า แกรมมี่ต้องแคร์คนอีสานบ้างนะ ถามว่าแกรมมี่มีชื่อเสียงเพลงอะไร เพราะใคร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลิ่นอายของความเป็นอีสานมั้ย เกิดจากคนหมอลำ-คนอีสานหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าอยากตอบแทนคนอีสาน ก็ควรจะกลับมาคิดเรื่องเก็บค่าลิขสิทธิ์สักหน่อย คืออาจจะเก็บ แต่ก็ต้องมานั่งพูดคุยกันว่าจะเก็บในอัตราไหน”
สุดท้าย พิเศษ ได้ให้ความคิดเห็นเป็นกลางว่า เรื่องนี้ทางแกรมมี่ควรออกมาจับมือไกล่เกลี่ยกับชาวหมอลำอีสานเสีย เพื่อพิจารณาราคาลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม เพราะพวกเขาเหล่านี้ถือเป็นผู้สืบสานมรดกของชาติ หากต่อรองกันได้ก็สมควร
“คือหมอลำมันก็ใกล้จะหมดแล้ว ควรอนุรักษ์เอาไว้มั้ย ถ้าใจดีหน่อยก็ให้เค้าสืบสานกันไป พอมีกำรี้กำไร ก็ค่อยมาพิจารณาจัดเก็บ ค่อยมาว่ากัน แต่จริงๆ ที่เห็นข่าวว่าจัดเก็บกันเป็นหลักแสน ผมก็ว่ามันแพงไป ทางหมอลำก็ควรเอาตัวเลขรายได้ไปให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไปดูว่าจริงๆ รายได้ของเรามันไม่ได้มาก ก็ให้คิดตามเปอร์เซ็นต์ไป จะได้พอจ่ายไหว แต่ถ้าเหมาจ่ายเป็นก้อน มันก็คงหนักเหมือนกัน
เคสนี้ผมว่าควรจะมาไกล่เกลี่ยกันนะทั้งสองฝ่าย อย่าไปตั้งโต๊ะแถลงข่าวประชันกันเลย ผมว่ามันไม่ดีทั้งสองฝ่ายนะครับ ใจผมก็อยากให้มาคุยกัน ต่อรองกันว่าลดได้มั้ย อันนี้เป็นการสืบสานวัฒนธรรมนะ ทางแกรมมี่ช่วยได้มั้ย คุยกันว่าตรงไหนคือราคาที่รับได้ น่าจะเหมาะสมกว่าการเอากฎหมายมายันว่าถูก เพราะว่ามันเป็นความถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจ”
สุดท้าย แกรมมี่ จะสนใจต่อเสียงต่อต้านของหมอลำอีสานหรือไม่ คงต้องรอเวลา แต่ตอนนี้คาดว่าหลายคนๆ คงนึกในใจ เหตุการณ์ขูดรีดค่าลิขสิทธิ์จากค่ายเพลงใหญ่หน้าเลือดนี้ไม่ต่างอะไรจากปลาใหญ่กินปลาเล็ก และปลาตัวนี้คงน่าจะฮุบผลประโยชน์ไปเสียจนพุงกางแล้ว
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live