ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือแจงน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มถึงวันละ 70 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างถึง 66% แล้ว แจงต้องระบายน้ำเพิ่มเป็น 16 ล้าน ลบ.ม. แต่จะควบคุมไม่เกิน 25 ล้าน ลบ.ม.ตั้งแต่ 2 ต.ค.เป็นต้นไป หวังรักษาสภาพเขื่อน มั่นใจไม่เกิดผลกระทบน้ำท่วมท้ายเขื่อนแน่
นายภิญโญ ทองสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากถึงวันละกว่า 77 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 1 ซม. มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,595 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของความจุอ่าง ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 1,014 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอต่อการใช้ทำนาปรัง ใช้ในการเกษตร พื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำหนองหวาย ตลอดจนใช้น้ำในกิจกรรมอื่นๆ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (2 ต.ค.) เป็นต้นไป โดยจะทยอยระบายน้ำเพิ่มตั้งแต่ 16 ล้าน ลบ.ม. ไปจนถึง 25 ล้าน ลบ.ม.เพื่อให้ระดับน้ำในเขื่อนเข้าสู่ระดับเส้นควบคุมได้ ป้องกันวิกฤตเขื่อนรับน้ำไม่ไหวไว้ก่อน ซึ่งการระบายน้ำปริมาณน้ำดังกล่าวยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อน้ำในลำน้ำพองจนเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจนเกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน ซึ่งการปล่อยน้ำจะควบคุมไม่ให้เกิน 25 ล้าน ลบ.ม. เพื่อคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรที่มีที่อยู่อาศัยท้ายเขื่อน
สาเหตุที่เขื่อนอุบลรัตน์จำเป็นต้องระบายน้ำเร่งด่วนในปริมาณน้ำเพิ่มเติมจากปกติ ตั้งแต่ 09.00 น.วันพรุ่งนี้ (2 ต.ค.) เป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ล่าสุดวัดระดับน้ำเมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 1 ต.ค. 56 มีระดับน้ำอยู่ที่ 179.53 ม.รทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งเกินระดับควบคุมที่ 179 ม.รทก. โดยมีระดับน้ำเก็บกักปกติสูงสุด 182.00 ม.รทก. ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกราฟระดับน้ำจะพบว่าเส้นระดับน้ำในปัจจุบันไม่สูงมาก ต่างจากปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน จ.ขอนแก่น ระดับน้ำครั้งนั้นสูงเกิน 182 ม.รทก.
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้ประสานกับโครงการชลประทานขอนแก่น และโครงการส่งน้ำบำรุงรักษาหนองหวายให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการระบายน้ำตามความเหมาะสมของสถานการณ์และสภาพอากาศต่อไป