xs
xsm
sm
md
lg

“สุภรณ์” ใหญ่เหนือกฎหมาย สั่งห้ามดำเนินคดีผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดถนน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีหารือแกนนำชาวบ้านเรียกร้องที่ดินทำกินจากการสร้างเขื่อนสิรินธร กับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
อุบลราชธานี - งานเข้า “สุภรณ์ อัตถาวงศ์” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ให้ยาหอมผู้ชุมนุมปิดถนนประท้วงค่าชดเชยสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อ 40 ปีก่อน พร้อมสั่งห้ามตำรวจดำเนินคดี ทั้งให้ กฟผ.อำนวยความสะดวกหาไฟให้ใช้ และจัดสรรที่ดินหน้าเขื่อนมาให้ผู้ชุมนุมใช้ทำกินที่อ้างว่าตกหล่น 390 ราย

จากการชุมนุมปิดถนนสายสิรินธร ไปด่านสากลช่องเม็ก บริเวณหน้าเขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5-10 ก.ย.ที่ผ่านมา ของกลุ่มที่อ้างตัวเป็นผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนสิรินธร เมื่อ 40 ปีก่อน ประมาณ 300 คน เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานเพิ่มรายชื่อผู้ที่จะได้รับเงินค่าชดเชยกรณีเป็นผู้ตกหล่นรายละกว่า 4 แสนบาท ซึ่งกระทรวงพลังงาน ส่งรายชื่อผู้สมควรได้รับค่าชดเชยเมื่อ 27 ส.ค. เพราะเป็นผู้มีรายชื่อตกหล่นจริงให้ ครม.อนุมัติ 43 ราย ทำให้ชาวบ้านที่เหลือกว่า 390 ราย ไม่พอใจออกมาชุมนุมกดดันอีกครั้ง

ทั้งนี้ แกนนำชาวบ้านที่เรียกร้องได้ไปหารือถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวกับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการหารือใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปว่า นายสุภรณ์ จะออกหนังสือสั่งการให้กระทรวงพลังงานใช้หลักเมตตาธรรมช่วยเหลือชาวบ้านที่เหลืออีกกว่า 390 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มทายาท และลูกหลานของผู้ได้รับผลกระทบมีที่ดินทำกิน

โดยให้สำรวจพื้นที่บริเวณหน้าที่ตั้งเขื่อนสิรินธรประมาณ 5,000 ไร่ นำมาจัดสรรแบ่งให้แก่กลุ่มผู้อ้างว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบตามสมควร โดยให้หัวหน้าสำนักงานรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ลงมาดูพื้นที่ก่อนทำการแบ่งสรรที่ดิน และระหว่างนี้จะมีหนังสือสั่งการไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เขื่อนสิรินธรจัดหาแสงสว่างให้แก่ผู้ชุมนุมที่ไปสร้างเพิงพักบนที่ดินที่จะจัดสรรไว้ล่วงหน้าแล้ว

และจะสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ งดดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่ทำการปิดการจราจร จำนวน 2 ช่องทางเดินรถระหว่างการชุมนุมที่ผ่านมาทั้งหมดด้วย ทำให้ตัวแทนผู้ชุมนุมพอใจพากันเดินทางกลับในเย็นวันเดียวกัน

สำหรับปัญหาการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ.2513 ครั้งนั้น มีการโยกย้ายชาวบ้านที่จะต้องถูกน้ำท่วมออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลนิคมลำโดมน้อย อ.สิรินธร แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศเป็นหินภูเขา ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพเป็นชาวประมงหาปลาในอ่างเก็บน้ำ หรือในแม่น้ำมูล แต่ส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างถิ่นหาเลี้ยงครอบครัว

กระทั่งต่อมา มีการสร้างเขื่อนปากมูล ในอำเภอโขงเจียม ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และครั้งนี้มีชาวบ้านออกมาเรียกร้องค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านที่เคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเข้าร่วมด้วย

ต่อมา สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2549 เห็นเป็นความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจริง จึงอนุมัติช่วยเหลือจัดหาที่ดินทำกินให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร คนละ 15 ไร่ ทั้งสิ้น 2,519 ครอบครัว แต่ก็ยังมีชาวบ้านอ้างตัวเป็นทายาท เป็นลูกหลาน และเป็นผู้มีรายชื่อตกหล่นจำนวนมากเรียกร้องเพิ่มเติม

ต่อมา กลุ่มผู้เรียกร้องได้เข้าร่วมเป็นแนวร่วม นปช.ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย เมื่อพรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาล ชาวบ้านได้ออกมาเรียกร้องทวงสัญญา จึงมีการพิจารณากลั่นกรองจนได้รายชื่อของผู้มีรายชื่อตกหล่น และยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือมาก่อนจริงจำนวน 43 ราย ทำให้ชาวบ้านที่เหลือไม่พอใจที่ ครม.ให้ชดเชยในจำนวนดังกล่าว จึงพากันออกมาปิดถนนกดดัน และเข้าร่วมหารือจนได้ข้อสรุปดังกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น