อุบลราชธานี - กลุ่มชาวบ้านอ้างตัวเป็นทายาทผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่พอใจมติ ครม.ที่ให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพียง 43 ราย ทั้งที่ยื่นรายชื่อไปเกือบ 6 พันราย จึงยื่นหนังสือขอให้ทบทวนมติ ครม.เพื่อให้ผู้ที่เหลือได้รับเงินชดเชยด้วย
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านจากอำเภอสิรินธรประมาณ 50 คน นำโดยนายใบพร แสนอ้วน กำนันตำบลนิคมลำโดมน้อย รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีจ่ายเงินชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อกว่า 40 ก่อน เพราะเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ช่วยเหลือไปแล้วเมื่อปี 2549 อีก 43 รายๆ ละ 480,000 บาท
นายใบพรระบุว่า แต่ความจริงยังมีลูกหลานของผู้ได้รับผลกระทบอีกประมาณเกือบ 6,000 รายที่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยค่าเสียโอกาสไม่มีที่ทำกิน การที่ ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาให้เพียง 43 ราย จึงไม่เป็นธรรมกับคนที่ยังไม่ได้รับ จึงต้องการให้ทบทวนมติและให้ช่วยเหลือพวกที่เหลือด้วย
ต่อมานางนภา ศกุนตนาค รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมหารือในห้องประชุมและรับหนังสือส่งต่อแจ้งให้รัฐบาลทราบความต้องการของผู้ที่มาชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมพอใจพากันสลายตัวในเที่ยงวันเดียวกัน
สำหรับการประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยจากการสร้างเขื่อนสิรินธรชาวบ้านได้รวมตัวเรียกร้องตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติจัดหาที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ และบางรายขอรับเป็นเงินสดรายละ 150,000 บาท ให้แก่ผู้ได้รับกระทบจำนวน 2,519 ครอบครัว แต่ยังมีการเรียกร้องโดยอ้างว่า เป็นผู้มีรายชื่อตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยาในรอบแรก และบางรายอ้างเป็นทายาทลูกหลานของผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรที่ยังไม่ได้รับค่าชดเชยอีกเกือบ 6,000 ราย พร้อมเรียกร้องขอชดเชยเป็นเงินรายละ 480,000 บาท หรือที่ดินทำกินรายละ 15 ไร่
ต่อมากระทรวงพลังงานได้มีการสำรวจรายชื่อผู้อ้างตัวทั้งหมด และเสนอรายชื่อผู้ที่มีหลักฐานเป็นผู้มีรายชื่อตกหล่น หรือเป็นทายาทของผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาให้ ครม.จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 43 ราย ทำให้ชาวบ้านที่เหลือไม่พอใจมายื่นหนังสือเรียกร้องในวันนี้