ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้บริหาร “ซอลทเวิร์คส” ยันเดินหน้าโครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน แห่งแรกในอาเซียนที่ อ.ขามทะเลสอโคราช ไม่สน ปชช.ในพื้นที่ต้านหนัก เผยส่วนใหญ่เห็นด้วย ชี้ใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ 600 ไร่ เงินลงทุน 900 ล้าน ผลิตเกลือปีละ 5 แสนตัน ยันขุดเกลือด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและทำเสาค้ำยันเพื่อไม่ให้ดินทรุด หากมีผลกระทบบริษัทพร้อมรับผิดชอบ
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่โรงแรมวี-วัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด เปิดแถลงข่าว “โครงการเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน” โดยมี นายกิตติพงษ์ พุทธพรมงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด พร้อมผู้บริหารและวิศวกร ร่วมชี้แจงรายละเอียด
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด เป็นเจ้าของโครางการดำเนินการพัฒนาโครงการเหมืองเกลือหินใต้ดิน เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับสิทธิ์ในการสำรวจธรณีวิทยา ครอบคลุมพื้นที่ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ซึ่งบริษัทฯ ยื่นขอประทานบัตรเหมืองเกลือใต้ดินเลขที่ 3/2555และ 4/2555 ในพื้นที่ ต.หนองสรวง และ ต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เนื้อที่รวมประมาณ 600 ไร่ มูลค่าลงทุนโครงการประมาณ 900 ล้านบาท ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ เพื่อสร้างเป็นโครงการเหมืองเกลือใต้ดินเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ และสนับสนุนให้มีโครงการ Salt Lamps อีกทั้งโครงการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่
การทำเหมืองเกลือหินใต้ดินในพื้นที่ อ.ขามทะเลสอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกลืออยู่ไม่ลึกมากเหมือนพื้นที่อื่นของ จ.นครราชสีมา จะเป็นรูปแบบการทำอุโมงค์ลงไปถึงระดับความลึกประมาณ 170-200 เมตรจากผิวดิน หรือเทียบเท่ากับตึก 61 ชั้นและมีขนาดปากอุโมงค์ทางเข้าในแนวดิ่งความกว้างจากจุดศูนย์กลางรัศมี 6-8 เมตร เพื่อลงไปทำการขุดเกลือขนาดช่องกว้างประมาณ 10x10 เมตร และ สูง 10-15 เมตร ลักษณะของห้องจะสลับกับเสาค้ำยัน มีการตรวจวัดการทรุดตัวของชั้นดินด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย
จึงมั่นใจได้ว่าอุโมงค์จะไม่มีการทรุดหรือพังเสียหาย ประกอบกับการทำเหมืองไม่มีการใช้ระเบิดและใช้เครื่องจักรแบบหัวขูด ขูดเอาแร่ออกมา จึงไม่มีแรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน และเป็นการทำเหมืองเกลือที่ทำในต่างประเทศมานานหลายร้อยปี ไม่มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของดินแต่อย่างใด
สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดินจะมีสำนักงาน โรงซ่อมบำรุง คลังสำรองเกลือก่อนจัดส่ง ที่พัก และโรงอาหารบนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่โดยก่อสร้างบนพื้นที่สูง ไม่มีปัญหาเรื่องการขัดขวางทางน้ำธรรมชาติ
ทั้งนี้ทางบริษัทฯ คาดว่าหากได้ประทานบัตรแล้ว จะสามารถลงมือก่อสร้างได้ทันทีใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และสามารถผลิตเกลือบริสุทธิ์ 99 %ได้ปีละ 500,000 ตันโดยขายทั้งในและต่างประเทศโดยส่งให้อุตสาหกรรมประเภท อาหาร, เคมี, ปิโตรเคมี,ประปา,ฟอกย้อม, รักษาความเย็น เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น โดยใช้เวลาในการดำเนินการในพื้นที่กว่า 600 ไร่ รวม 25 ปีจากนั้นจะส่งคืนให้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
“ การทำเหมืองเกลือหินใต้ดิน ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะมีเหมืองเกลือใต้ดินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ ในเชิงอนุรักษ์และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจะนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่รวมถึงจังหวัดนครราชสีมาและประเทศให้มีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยฝีมือคนไทยที่ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามาให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ” นายกิตติพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ นั้น นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้ลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านรวมกว่า 15 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยและมีเพียงบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย และได้ผ่านการทำประชาคมมาแล้วที่บ้านหัวแหวน ต.พันดุง ซึ่งเกิดปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีการกีดกันไม่ให้เข้ามาร่วมทำประชาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างทางการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงผลยังไม่ออกมา อย่างไรก็ตามบริษัทฯ มีความจริงใจที่จะนำความเจริญมาให้กับท้องถิ่น และสร้างอาชีพ พร้อมกับคำนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทุกประการ โดยการก่อสร้างโครงการจะต้องผ่านการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้กันเงินอีก 2 ล้านบาทจ้างบริษัทฯ ข้างนอกมาตรวจสอบการทำ EIA ตามที่ทางจังหวัดร้องขอด้วยเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับชุมชน
“ ทางบริษัทฯ ยืนยันว่าได้ทำตามขั้นตอนการขออนุญาตทุกประการ และอยากขอความเห็นใจจากชาวบ้านที่ยังต่อต้านว่า ทางบริษัทฯ คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมาก และขอให้เชื่อมั่นว่า ทุกขั้นตอนของการดำเนินการอยู่ในมาตรฐานและไม่มีปัญหาดินทรุดอย่างแน่นอน แต่หากเกิดผลกระทบขึ้นจริงทางบริษัทฯ ก็พร้อมที่จะรับผิดชอบและดูแลอย่างเต็มที่” นายกิตติพงษ์ กล่าว