xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่เล็งเสนอ “ผาวิ่งชู้-ออบหลวง-พุน้ำร้อนเทพพนม” นำร่องตั้งอุทยานธรณีวิทยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมทรัพยากรธรณีจัดประชุมระดมความคิดเห็นแนวทางจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยา ตั้งเป้าเริ่มต้นระดับจังหวัดก่อนขยายเป็นระดับประเทศ-ระดับโลก ด้าน ผอ.สำนักงานธรณี เขต 1 เผยเชียงใหม่ผลักดัน “ผาวิ่งชู้-ออบหลวง-พุน้ำร้อนเทพพนม” นำร่อง มั่นใจมีศักยภาพ หากทุกภาคส่วนเห็นพ้องเดินหน้าได้ทันที

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่โรงแรมธาริน จ.เชียงใหม่ นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “การอนุรักษ์ธรณีวิทยาและแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (Chiang Mai GEO Park)” โดยมี ดร.สมบุญ โฆสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง พร้อมด้วยนายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เข้าร่วม

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกาศเขตอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งอันควรอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา และอุทยานธรณีวิทยาซึ่งเป็นนโยบายที่กรมทรัพยากรธรณีตั้งเป้าที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาที่มีคุณค่าในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดความยั่งยืน โดยในส่วนของการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยานั้นมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และผลักดันสู่การขอขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีวิทยาระดับโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกต่อไปในอนาคต

สำหรับการจัดการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ นอกเหนือจากการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุทยานธรณีวิทยาให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังรวมถึงการระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอขอจัดตั้งอุทยานธรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ และการนำคณะเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่แหล่งธรณีวิทยาผาวิ่งชู้-ออบหลวง-พุน้ำร้อนเทพพนม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่จะเสนอให้มีการประกาศเป็นอุทยานธรณีของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีแหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่มีความโดเด่นและสวยงามเป็นจำนวนมากและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญของประเทศ อีกทั้งหลายแห่งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอนุรักษ์และดูแลให้แหล่งธรณีวิทยาต่างๆ เหล่านี้เป็นมรดกไปจนถึงลูกหลาน ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้กรมทรัพยากรธรณีได้วางแผนที่จะจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยาในระดับจังหวัดขึ้น ทั้งเพื่อการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ และการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการและการท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยาแล้วที่จังหวัดสตูล จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเตรียมที่จะดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย รวมถึงภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

นายมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นเป็นอีกจังหวัดที่แหล่งธรรมชาติทางธรณีวิทยามีลักษณะโดดเด่นสมควรแก่การอนุรักษ์และมีความน่าสนใจจำนวนมาก ดังนั้นกรมทรัพยากรธรณีจึงได้นำเสนอแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยาซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการอนุรักษ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการอนุรักษ์ในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการดูแลรักษาพื้นที่ที่มีความสำคัญในด้านธรณีวิทยาแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณีเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ ส่วนการที่อุทยานธรณีวิทยาจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ในด้านธรณีวิทยา รวมไปถึงการมีแผนการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการดำเนินการ

ด้าน ดร.สมบุญ โฆสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 (ลำปาง) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เตรียมที่จะผลักดันแหล่งธรณีวิทยาผาวิ่งชู้-ออบหลวง-พุน้ำร้อนเทพพนม เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณี โดยพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่นในเรื่องธรณีวิทยา ทั้งการมีพุน้ำร้อนซึ่งเกิดจากความร้อนของมวลหินหนืดใต้พิภพ การกัดเซาะหินผาที่ออบหลวงซึ่งแสดงถึงการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่ยกตัวเป็นภูเขาสูง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ยังมีเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์และประเพณีวัฒนธรรมที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ รวมทั้งสามารถต่อยอดสู่การสร้ารายได้จากการท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ พื้นที่ทั้ง 3 จุดยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์อยู่แล้วซึ่งจะทำให้กระบวนการดำเนินการในอนาคตสามารถทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ดร.สมบุญกล่าวต่อไปว่า พื้นที่ทั้ง 3 จุดซึ่งตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีวิทยานั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย โดยหน่วยงานราชการต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรและความจำเป็นในการอนุรักษ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบ รวมทั้งมีการบริหารจัดการพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถใช้ประโยชน์ได้

ส่วนประชาชนในพื้นที่ก็ต้องนำเสนอความรู้และประเพณีวัฒนธรรมในพื้นที่ให้หน่วยงานราชการได้ทราบเช่นกัน เพื่อให้ราชการได้รับรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งหากทุกฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทางก็สามารถเดินหน้าและทำเรื่องเสนอไปทางจังหวัดเพื่อวางแผนบริหารจัดการและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการได้
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี
ด้าน ดร.สมบุญ โฆสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 (ลำปาง)
กำลังโหลดความคิดเห็น