xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครพนมเมินราคาตก เดินหน้าปลูกยางเชื่ออนาคตราคาดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดีสยาม พรหมอินทร์ ประธานสภาเกษตรจ.นครพนม พร้อมด้วย นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล นายอำเภอนาหว้า นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รับขึ้นทะเบียนแจ้งความจำนงจากเกษตร และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมปลูกยางพารา
นครพนม-สภาเกษตรนครพนม สวนกระแสเมินยางราคาตก เดินหน้านำร่องส่งเสริมปลูกยางพารา พบเกษตรกรแจ้งจำนงปลูกแล้วกว่า 46,000 ไร่ ใน 12 อำเภอ เชื่ออนาคตสร้างรายได้มหาศาล แม้ในช่วงนี้ราคายางพาราตกต่ำก็ตาม

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่ห้องประชุมอำเภอนาหว้า จ.นครพนม นายภักดีสยาม พรหมอินทร์ ประธานสภาเกษตรจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล นายอำเภอนาหว้า นำเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สภาเกษตรจังหวัดนครพนม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ลงพื้นที่รับขึ้นทะเบียนแจ้งความจำนงจากเกษตรกร และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมปลูกยางพารา ในพื้นที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม

ตามโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราแก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครพนม รวม 12 อำเภอ ภายใต้ความร่วมมือของสภาเกษตรจังหวัดนครพนม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาล ในวงเงินจำนวนร่วม 5,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือบางส่วน รวม 21 จังหวัด

พื้นที่ จ.นครพนม ถือเป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการ สร้างความเข้าใจ และรับแจ้งความจำนงสำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ภายใต้การสนับสนุนเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถค้ำการกู้ยืมเองภายในกลุ่ม ในกรณีไม่มีเอกสารสิทธิ

รวมถึงได้รับการอนุมัติวงเงินกู้จากราคาประเมินที่ดิน ในอัตรา 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2557 เบื้องต้นมีเกษตรกรในพื้นที่นครพนม แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 3,700 ราย รวมเป็นพื้นที่จำนวนกว่า 46,000 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นว่า ยางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลในอนาคต ถึงแม้จะมีปัญหาราคาตกต่ำในช่วงนี้

ด้าน นายภักดีสยาม พรหมอินทร์ ประธานสภาเกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราแก่เกษตรกร ถือเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นสถาบันการเงินหลักที่ให้การสนับสนุน ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ตั้งงบประมาณสนับสนุน จำนวนประมาณ 5,000 ล้านบาท ผ่านระบบสินเชื่อของธนาคาร ธ.ก.ส.

สภาเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินโครงการเป็นจังหวัดนำร่องลงพื้นที่ทำความเข้าใจรับแจ้งความจำนงต่อเกษตรกรในพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 12 อำเภอ จากทั้งหมดมีจังหวัดเป้าหมายรวม 21 จังหวัด เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรที่สนใจปลูกยางพารา มีแหล่งเงินทุน รวมถึงมีความเข้าใจในอาชีพปลูกยางพาราสร้างรายได้

ส่วนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษ โดยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน คือ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุนวงเงินกู้ตามความเหมาะสม ในอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละประมาณ 7 บาทต่อปี ในราคาไร่ละประมาณ 2,200 บาท รวมถึงได้รับสิทธิในการอนุมัติวงเงินกู้จากราคาประเมินที่ดิน 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ สามารถค้ำประกันเองได้ในกลุ่มวงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้ ในการชำระคืนจะปลอดการคืนเงินต้นในระยะเวลา 1-5 ปี จนกว่าจะเริ่มสามารถเก็บผลผลิตยางพาราได้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้เกษตรกร

เบื้องต้นพบว่า เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครพนม ให้ความสนใจลงทะเบียนแจ้งความจำนงแล้ว จำนวน 3,700 ราย เป็นพื้นที่กว่า 46,000 ไร่ จากพื้นที่ 12 อำเภอ ส่วนในอนาคตจะได้มีการหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในการวางแผนเรื่องการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังเมื่อสามารถเก็บผลผลิตได้

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องปลูกยางพารา เชื่อว่ายางพาราจะเป็นสินค้าการเกษตรที่สร้างรายได้มหาศาล เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการสูง ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องยางราคาตกต่ำในช่วงนี้ อาจเป็นเพียงการบริหารจัดการภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินประกันราคาที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา

แต่ในอนาคตประมาณ 10 ปีข้างหน้า จะเป็นพืชการเกษตรที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมหาศาลแน่นอน ซึ่งหากมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปดูแลส่งเสริมอย่างจริงจัง จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดทุนแน่นอน

ปัจจุบัน จ.นครพนม มีพื้นที่ปลูกยางพาราเกือบ 3 แสนไร่ เปิดกรีดแล้วประมาณเกือบ 1 แสนไร่ ในอนาคตอีกประมาณ 1-2 ปี จะมีพื้นที่ปลูกยางเพิ่มมากถึง 4 แสนไร่อย่างแน่นอน จะมีเงินหมุนเวียนจากการขายยางพาราปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เกษตรกรที่สนใจยังสามารถติดต่อขอแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการได้

กำลังโหลดความคิดเห็น