xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางอีสานหวังรัฐอัดเงินอุดหนุน ย้ำยังไม่ร่วมประท้วงกับชาวสวนยางภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - ชาวสวนยางภาคอีสาน พอใจราคายาง ยังไม่เคลื่อนไหวในวันที่ 14 ก.ย. แต่จับตาดูเงินกองทุน 5,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลรับปากจะให้พัฒนายกคุณภาพการผลิต แนะนักการเมืองลดความสุขส่วนตัว ใช้ยางพาราในประเทศในอุตสาหกรรมแทนสั่งซื้อยางต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำระยะยาว

วันนี้ (9 ก.ย.) นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงมติของชาวสวนยางภาคใต้ที่ประกาศเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ันยายน หากรัฐบาลไม่รับซื้อยางพาราในราคาที่ชาวสวนยางเรียกร้องว่า รู้สึกเห็นใจชาวสวนยางภาคใต้ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าภาคอีสานและภาคเหนือ จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐรับซื้อในราคาที่คุ้มค่ากับที่ลงทุนไป

สำหรับชาวสวนยางภาคอีสานที่เป็นผู้ปลูกยางรายย่อย และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า มองว่าราคาที่รัฐบาลประกันให้กิโลกรัมละ 90 บาท ใกล้กับราคาที่เรียกร้องไปเมื่อเดือนมิถุนายน ที่กิโลกรัมละ 92 บาท จึงมีมติยังไม่เข้าร่วมเคลื่อนไหว แต่จะจับตากรณีเงินอุดหนุน 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลรับปากจัดสรรมาให้ตั้งเป็นกองทุนพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทั้งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรใช้ลงทุน และสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ซึ่งทราบว่าเงินอุดหนุนนี้ รัฐบาลได้เสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แล้ว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุน 5,000 ล้านบาท จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ทำให้ชาวสวนยางมีความเข้มแข็งขึ้น แต่หากจะแก้ปัญหายางพาราในประเทศที่สะสมมากว่า 100 ปี ต้องลดการสั่งซื้อยางสังเคราะห์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ แล้วใช้ยางพาราที่ผลิตได้ในประเทศแทน จะเป็นการระบายผลผลิตที่ได้ในประเทศ ทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นไปตามกลไกทางตลาด โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาอุดหนุนราคายางพาราที่จะตกต่ำอีกในอนาคต

“แต่คงต้องให้นักการเมืองเสียสละโดยลดความสุขส่วนตัว หันมาให้ความสุขแก่ชาวบ้าน โดยประกาศเป็นนโยบายให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในประเทศใช้ยางพราทำถนนแทนการสั่งซื้อยางสังเคราะห์จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยระบายยางพาราที่รัฐบาลมีอยู่ในสต๊อกกว่า 2 แสนตัน ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มทีด้วย”

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยที่ว่าชาวสวนยางภาคอีสาน และเหนือปล่อยให้ชาวสวนยางภาคใต้สู้ไปตามลำพัง แล้วคอยรับประโยชน์ด้วยนั้น ภาคเหนือ และอีสานมีปัจจัยการผลิตที่ต่างกัน เมื่อรัฐบาลกำหนดราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 80 บาท แล้วชดเชยปัจจัยการผลิตให้อีกไร่ละ 1,260 บาท ชาวสวนยางอีสาน และเหนือก็อยู่ได้แล้ว

ล่าสุด ให้ราคารับซื้อถึงกิโลกรัมละ 90 บาท ชาวสวนยางทั้ง 2 ภาค จึงเปลี่ยนประเด็นมาจับตาเรื่องเงินอุดหนุนแทน

ขณะที่นางเยาวรัตน์ บุญสม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกยางพาราเพื่อรับเงินชดเชยทั้ง 25 อำเภอว่า มีพื้นที่ปลูกยาง 359,902 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 151,515 ไร่ อีก 207,542 ไร่ ยังไม่ได้อายุที่จะให้น้ำยาง มีเกษตรกร 29,331 ราย แต่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนผู้ปลูกยางพาราเพียงกว่า 3,000 ราย

และตั้งแต่เปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียน เบื้องต้นยังไม่มีรายงานปัญหาการดำเนินงาน สำหรับจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับการชดเชยยังอยู่ในขั้นตอนคัดกรอง ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งจะสรุปรายงานแจ้งให้ทราบภายในวันที่ 15 กันยายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น