ตรัง - กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ ยังคงค้างคาใจมติ ครม.ที่ออกมาล่าสุด ซึ่งระบุว่าจะจ่ายเงินค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท เตรียมนัดประชุมใหญ่ 12 ก.ย.นี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน
นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานชุมนุมกองทุนสวนยาง หรือ สกย.จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ สกย.จำกัด ใน จ.ตรัง ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมประมาณ 70 แห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุด และมีความเข้มแข็งมากที่สุดในระดับภาคใต้ กำลังเฝ้าติดตามว่าทางรัฐบาลจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางจากปัญหาราคาตกต่ำไปในทิศทางใด โดยเฉพาะผลจาก ครม. ล่าสุดที่มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ให้จ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกยางไร่ละ 2,520 บาท และช่วยเหลือราคายางในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท ให้เป็น กก.ละ 90 บาท ในระยะเวลา 7 เดือน (ก.ย. 2556-มี.ค. 2557) โดยจำกัดปริมาณให้การช่วยเหลือรายละไม่เกิน 25 ไร่ และเร่งรัดจ่ายการเงินให้ถึงมือเกษตรกรนั้น
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมติ ครม. ดังกล่าวออกมาแล้ว แต่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ก็ยังมีความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ซึ่งในส่วนนี้จะตกไปอยู่กับเจ้าของสวนยางเท่านั้น ขณะที่ลูกจ้างซึ่งมาช่วยทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการกรีดยางจะไม่ได้รับ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรคนหนึ่งจะสามารถกรีดยางได้แค่คนละ 10 ไร่ ซึ่งถ้ามีสวนยางถึง 25 ไร่ ตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องมีผู้มาช่วยกรีดยาง 2-3 คน ฉะนั้น เจ้าของสวนจึงจำเป็นต้องจ้างลูกจ้างมาเสริมด้วย แต่ผลประโยชน์จากการจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตในรูปแบบดังกล่าวนี้กลับไม่ได้ครอบคลุมไปถึงลูกจ้าง นอกจากเป็นเรื่องของการไปตกลงกันเองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติจะสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่อย่างไร
ส่วนการเข้ามาแทรกแซงราคายางในปัจจุบัน ให้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 90 บาทนั้น ประธานชุมนุม สกย.จังหวัดตรัง เห็นว่า แม้จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น แต่เมื่อเข้ามาดำเนินการจริงๆ แล้ว เงินจะถึงมือได้ครบถ้วน และมีขั้นตอนที่สะดวกหรือไม่ ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรบางส่วนในภาคใต้ก็ยังมองว่าการเข้ามาแทรกแซงราคายางให้เพิ่มเป็น กก.ละ 95 บาท น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า เพราะทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์ครบทุกด้าน ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ ที่ยังค้างคาใจเหล่านี้ แกนนำกลุ่มเกษตรกรทั้งใน 14 จังหวัดภาคใต้ จะเดินทางไปร่วมหารือกับเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ เพื่อได้ข้อสรุปเป็นมติที่ชัดเจน และติดตาม 4 ข้อเสนอล่าสุดต่อทางรัฐบาลด้วย