ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สพส.เผยข้อมูลลักลอบปลูกฝิ่นปี 2555/2556 พบพื้นที่ปลูกทั่วประเทศเพิ่ม 27.26% “เชียงใหม่” ปลูกเยอะสุดถึง 78.37% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด แจงแม้สถิติตัดทำลายสูงแต่ตัวเลขพื้นที่ปลูกยังเพิ่มต่อเนื่อง ตะลึงพบใช้นวัตกรรมเพียบทั้งใส่ปุ๋ย ติดสปริงเกอร์บำรุงฝิ่นให้ได้ผลผลิตเยอะ แถมยกร่อง ปลูกแทรกพืชอื่นเลี่ยงการสำรวจทางอากาศ ระบุชาวบ้านยากจน ราคาสูงเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกเพิ่ม
นางทิพาพร ทัศนภักดิ์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การปลูกฝิ่นในภาพรวมทั้งประเทศ ปี 2555/2556 ว่า จากการสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่น ทั้งจากการสำรวจทางอากาศ และการเดินสำรวจภาคพื้นดิน ตั้งแต่เดือน ส.ค.2555 จนถึงเดือน ก.ค.2556 พบว่า มีการลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่ที่มีศักยภาพรวม 29 พื้นที่
ทั้งนี้ อยู่ในเขตภาคเหนือ 8 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 50 ตำบล รวมพื้นที่ทั้งหมด 2,573 แปลง 1,659.02 ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่การปลูกฝิ่นในช่วงปี 2554/2555 พบว่า มีพื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 355.35 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27.26 โดยส่วนใหญ่มีพื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด มีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงราย ที่มีพื้นที่การปลูกลดลง
ส่วนการลักลอบปลูกฝิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2555/2556 พบว่า มีการลักลอบปลูกฝิ่นจำนวน 2,006 แปลง 1,300.20 ไร่ ในพื้นที่ 9 อำเภอ 20 ตำบล เพิ่มขึ้นจากปี 2554/2555 จำนวน 348.66 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 36.64 โดยอำเภออมก๋อย เป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากที่สุด รวม 1,560 แปลง 888.29 ไร่ รองลงมาได้แก่ อำเภอเชียงดาว 213 แปลง 238.07 ไร่ และจากสถิติดังกล่าว ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากที่สุดในประเทศ โดยพื้นที่การปลูกฝิ่นของจังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็นร้อยละ 78.37 ของพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นทั้งประเทศ
นางทิพาพร กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นในรอบปี 2555/2556 โดยมีการบินสำรวจทางอากาศรวม 78 เที่ยวบิน และการเดินสำรวจภาคพื้นดินอีก 11 ครั้ง สพส.ได้แจ้งข้อมูล และประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองทัพภาคที่ 3 ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 และศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะ ยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ เข้าดำเนินการตัดทำลายไร่ฝิ่น ซึ่งผลการดำเนินการปรากฏว่า สามารถตัดทำลายไร่ฝิ่นได้รวม 1,295.90 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99.67 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในจังหวัด
นางทิพาพร ระบุว่า สาเหตุที่ยังพบกาสรลักลอบปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ผู้เสพที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความต้องการฝิ่นจำนวนมากตามมา ขณะเดียวกัน ผู้ที่ผ่านการบำบัดมีแนวโน้มที่จะกลับไปเสพฝิ่นซ้ำอีก เนื่องจากระบบการติดตามยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขณะที่การณรงค์สร้างจิตสำนึกในเรื่องโทษภัยของฝิ่นและบทลงโทษทางกฎหมายยังดำเนินการได้น้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความห่างไกล เข้าถึงได้ยาก ประกอบกับมีอุปสรรคด้านภาษาในการสื่อสาร ทำให้ประชาชนไม่เกิดความตระหนัก และเกรงกลัวเท่าที่ควร
ขณะที่ความยากจนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ชาวบ้านลักลอบปลูกฝิ่น หรือรับจ้างปลูกฝิ่นให้แก่กลุ่มนายทุน เนื่องจากมีแรงจูงใจด้านราคาที่ได้รับผลตอบแทนค่อนข้างสูง โดยจากการสำรวจพบว่า ราคาขายปลีกสูงถึง 134,000-168,000 บาทต่อจ๊อย (จ๊อยเท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) และหากเป็นช่วงนอกฤดูฝิ่น จะมีราคาสูงถึง 200,000 บาทต่อจ๊อย ประกอบกับการอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทำให้ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และค่านิยมที่ต้องการความสะดวกสบายเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านหันมาปลูกฝิ่นเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ มาตรการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะกดดัน และปรายปรามจับกุมผู้มีอิทธิพลพื้นที่ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ นางทิพาพร เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน นอกเหนือจากปริมาณพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีการใช้นวัตกรรมต่างๆ ทั้งเพื่อเพิ่มผลผลิตฝิ่น และหลบเลี่ยงการตรวจสอจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยพบว่าในปัจจุบัน กลุ่มนายทุนได้สนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านเพื่อใช้ในการปลูกฝิ่น เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือระบบสปริงเกอร์ หรือต่อสายยางเพื่อให้น้ำแก่ฝิ่นที่ปลูกไว้ ซึ่งทำให้ผลผลิตฝิ่นต่อไร่เพิ่มมากขึ้น และอาจได้ผลผลิตสูงถึง 4 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งรวมไปถึงการได้ผลผลิตฝิ่นในช่วงนอกฤดูอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ามีการทำแปลงยกร่องพื้นที่ปลูกฝิ่น หรือนำไปปลูกแทรกกับพืชอื่นๆ เช่นลำไย หรือกาแฟ เพื่ออำพรางเจ้าหน้าที่ในการสำรวจทาวอากาศ รวมถึงยังมีการแบ่งการเพาะปลูกออกเป็นหลายรุ่น ทำให้มีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตัดทำลายแต่ภายหลังก็จะมีฝิ่นรุ่นต่อไปเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทน รวมทั้งยังมีการจ่ายค่าแรงงานเป็นฝิ่นเพื่อจงใจให้ชาวบ้านตั้งใจเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น
ด้านนายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ ศพส.จังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสั่งการให้อำเภอที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงออกสำรวจ และติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการที่พื้นที่หลายแห่งมีสภาพทุรกันดาร และเข้าถึงได้ยากเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันนอกจากพื้นที่การปลูกฝิ่นจะเพิ่มจำนวนขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก และการแบ่งการเพาะปลูกเป็นหลายรุ่นเพื่อทดแทนการทำลายของเจ้าหน้าที่ ทำให้แม้สถิติการตัดทำลายจะสูงมาก แต่ก็ยังมีผลผลิตเข้าสู่ตลลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามสถานการณ์ให้ทัน และเร่งหามาตรการต่างๆ มาใช้แก้ไขปัญหา อย่างเช่น การหาอาชีพทดแทนที่มีรายได้ที่น่าพึงพอใจเพื่อชักจูงใจให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น เป็นต้น