xs
xsm
sm
md
lg

รัฐแจกแห้วสวนยางเหนือ-ไม่มีกิโลฯ ละ 85 บาทในสารบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - แกนนำชาวสวนยางพาราเชียงรายรับอึ้ง มติ ครม.3 กันยาฯ ไร้เงื่อนไขพยุงราคายางให้ได้กิโลฯ ละ 85 บาท แถมค่าปุ๋ย 10 ไร่แรกแจกเฉพาะที่ที่มีเอกสารสิทธิ บอกให้เวลาถึง 13 ก.ย.รัฐไม่ช่วยเพิ่มจะกำหนดท่าทีอีกรอบ

หลัง ครม.มีมติช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราด้วยการช่วยเหลือค่าการเกษตรไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขที่ดินต้องเป็นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ผิดจากข้อเสนอของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้

ล่าสุดบรรดาผู้ปลูกยางพาราในเครือข่ายของภาคเหนือได้เริ่มแสดงท่าทีกังวลต่อมติดังกล่าว เนื่องจากเคยตั้งความหวังไว้ว่าหลังจากมีการเจรจาระหว่างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราแห่งประเทศไทย กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับแจ้งว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ถึงขั้นจะช่วยอุดหนุนให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาท เพื่อสกัดไม่ให้มีการชุมนุมปิดถนนที่อุตรดิตถ์ในวันที่ 3 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่มีเรื่องการอุดหนุนราคายางพาราเลย

นายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า เครือข่ายในภาคเหนือ คงจะนัดประชุมหารือกันดูอีกครั้ง เพราะมติดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเรื่องค่าปุ๋ยเป็นรายไร่ ซึ่งไม่ใช่การอุดหนุนราคาให้สูงขึ้น รวมทั้งเราต้องยอมรับความจริงกันว่า พื้นที่ปลูกยางพาราของเกษตรกรรายย่อยจริงๆ คือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ แต่มติให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,260 บาท ให้เฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น

“ผู้ปลูกยางพารารายย่อยในเชียงราย 60-70% ต่างปลูกยางพาราบนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือที่ถูกกันไว้เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปทำประโยชน์ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ”

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า แม้แต่ ส.ป.ก. 4-01 ที่ใช้เพื่อการปลูกยางพาราก็แทบจะไม่มี เพราะส่วนใหญ่ที่ ส.ป.ก. 4-01 เป็นที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตรที่ลุ่มมากกว่าปลูก และจำนวนมากตกอยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ไปหมดแล้ว เช่นเดียวกับที่โฉนดหรือเอกสารสิทธิอื่นๆ ที่เกษตรกรรายย่อยแทบไม่มีไว้ในครอบครองเพื่อปลูกยางพารา

“กังวลกับมติที่ออกมาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง” นายสุวิทย์กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราภาคเหนือได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไปก่อนหน้าที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยให้ระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องเดิมไปอีก 15 วัน หรือจนถึงวันที่ 13 ก.ย. 56 นี้ เราจึงต้องรอ เมื่อพ้นกำหนดยังไม่มีการดำเนินการที่นอกเหนือจากนี้ ก็คงจะกลับมาหารือกันใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรกันต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราภาคเหนือได้ประชุมกันที่ จ.สุโขทัยเมื่อ 20 ส.ค.56 วันที่ 20 ส.ค.56 นัดหมายกันออกมาชุมนุมที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อชุมนุมพร้อมเครือข่ายภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนราคาให้สูงขึ้น โดยในส่วนของ จ.เชียงราย เรียกร้องให้ช่วยพยุงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ให้ได้ราคา 101 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ราคา 92 บาท น้ำยางสดราคา 81 บาท ยางก้อนถ้วย 100% ราคา 83 บาท และออกมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาในสต๊อก 200,000 ตัน

ต่อมาเมื่อชาวสวนยางพาราภาคใต้ออกมาชุมนุมปิดถนน เครือข่ายสวนยางภาคเหนือ มีการหารือกันอีกครั้ง และเห็นชอบกับมติของเครือข่ายฯ แห่งประเทศไทย ที่ไปเจรจากับกระทรวงเกษตรฯ ยุติการชุมนุมปิดถนน จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวออกมา

สำหรับเครือข่ายฯ จ.เชียงรายมีผู้ปลูกยางพาราอยู่ประมาณ 6,500 กว่าคน เนื้อที่ประมาณ 120,000 ไร่ แต่ถ้ารวมกับพื้นที่นอกเครือข่ายจะมีมากกว่า 580,000 ไร่ เป็นสวนยางภายในโครงการของกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (กสย.) ประมาณ 37,400 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 238 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น