xs
xsm
sm
md
lg

รับไม่ได้! ชาวสวนยางพิษณุโลกยันชุมนุมแน่ สั่งเตรียมเสบียง-เครื่องนอนพร้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เกษตรกรชาวสวนยางพิษณุโลกรับไม่ได้รัฐแถแจกปุ๋ย แทนประกันราคาส่วนต่างยางพารา ลั่นตัวเลขต้อง 92 บาทต่อกิโลกรัมทุกอย่างยุติ ถ้าไม่ชัดเจนปิดถนนที่อุตรดิตถ์ 3 กันยาฯ แน่นอน ล่าสุดสั่งเครือข่ายเตรียมเสบียง-เครื่องนอนแล้ว

วันนี้ (29 ส.ค.) นายศิลา ปัญจรี ประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพิษณุโลก(ของ สกย.) เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพิษณุโลกพร้อมปิดถนนประท้วงเรียกร้องราคายางพาราจากรัฐบาลวันที่ 3 ก.ย. 56 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือว่าเป็นไปตามมติทั้ง 17 จังหวัด ให้ร่วมชุมนุมจังหวัดละ 300 คนเป็นอย่างต่ำ เฉพาะพิษณุโลกที่มีพื้นที่ปลูกยางมาก และอุตรดิตถ์ จังหวัดเจ้าภาพ จะมีคนร่วมจังหวัดละ 500 คนขึ้นไป

“ตอนนี้ได้แจ้งให้เครือข่ายจัดเตรียมเครื่องนอน และสัมภาระให้พร้อมค้างคืน เนื่องจากไม่รู้ว่าสถานการณ์ยืดเยื้อหรือไม่เพราะต้องให้ได้ข้อยุติก่อนจึงจะกลับ และข้อยุตินั้นจะต้องเหมือนกันทั้ง 4 ภาคด้วย ส่วนข้อเสนอรัฐบาลช่วยเหลือปัจจัยการผลิต คือ ปุ๋ย 1,250-1,260 ต่อไร่นั้นกำลังรอมติเครือข่ายผู้ปลูกยางพาราทั้ง 4 ภาคก่อน”

แหล่งข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่จริงแล้วประท้วงปิดถนนของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นการเรียกร้องเรื่องราคา ไม่ใช่เรื่องปัจจัยการผลิต ชาวสวนรับไม่ได้วิธีการแก้ปัญหาที่จะจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัดเฉพาะผู้ที่เปิดกรีดแล้วในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ซึ่งยืนยันได้เลยว่าพื้นที่ปลูกยางพาราของพิษณุโลกมีเอกสารถูกต้องทั้งโฉนดและอส.ป.ก.ไม่ถึง 50% เรียกได้ว่า ทั้งตัวอำเภอนครไทย และเนินมะปราง หาโฉนดได้น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย พื้นที่ปลูกยาพาราส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ

นายสันติ รื่นภาคทรัพย์ กรรมการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพิษณุโลก (ของ สกย.) เปิดเผยว่า รับไม่ได้กับแนวทางที่รัฐบาลจะให้ปุ๋ย 1,250 และ 1,260 บาทต่อไร่ ตนไม่เห็นด้วย ดังนั้นยืนยันว่าจะต้องไปเข้าร่วมการประท้วงที่จังหวัดอุตรดิตถ์แน่นอน

ส่วนนายทุนสวนยางขนาดใหญ่ กำลังติดต่อขอให้ส่งเสบียง พร้อมส่งแรงงานคนกรีดยางเข้าร่วม เพราะถ้าราคายางพาราตกต่ำ คนกรีดไม่มี เพราะไม่คุ้มกัน ดังนั้น นายทุนสวนยางพาราก็ทนอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องการราคายางสูงๆ

นายสันติบอกว่า สิ่งที่ชาวสวนยางต้องการคือราคา ไม่ใช่ปุ๋ย ขอให้รัฐบาลอุดหนุนและชดเชยค่าส่วนต่างราคายางพาราให้แก่เกษตรกร ส่วนราคายางแผ่นดิบที่คนภาคใต้ขอไว้คือ 101 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้นถ้ารัฐจริงใจแก้ปัญหาจะต้องระบุว่าตัวเลขเท่าใด พอรับได้ทั้ง 4 ภาคก็คือ 92 บาทต่อกิโลกรัม หากตัวเลขต่ำกว่านี้จะต้องหารือกันใหม่

นายสันติยืนยันว่า แนวทางนี้ไม่ใช่เป็นการบิดเบือนราคาตลาดโลก แต่รัฐช่วยราคาส่วนต่างของผลผลิตยางพาราที่ขายไปเหมือนข้าวเปลือก แต่รัฐบาลกลับจะมาแจกปุ๋ย มันคนละเรื่อง แถมเปิดช่องว่างให้ จนท.รัฐหากินผลประโยชน์อีก

“ปุ๋ยปลอมไม่ใช่หรือที่ทำให้ผู้บริหารของ สกย.ถูกปลดไปก่อนหน้านี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น