ชุมพร - ชาวสวนสวนยางชุมพร ยังปักหลักประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดต่อเนื่องนาน 3 วัน ด้านแกนนำเผยรัฐบาลใช้การเมืองเป็นเครื่องมือต่อรองกับเกษตรกรภาคใต้แบบ 2 มาตรฐาน ยืนยันจะปักหลักจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ และจะไม่นำม็อบไปปิดถนน
จากกรณีเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันในพื้นที่ จ.ชุมพร จำนวนมากรวมตัวปักหลักประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือแทรกแซงราคายางพารามีตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 วันแล้ว แต่ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ล่าสุด วันนี้ (4 ก.ย.) นายกฤษฎ์ แก้วรักษ์ แกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง และปาล์มชุมพร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องราคายาง และปาล์มของชาวสวนในจังหวัดชุมพร เป็นการออกมาเรียกร้องราคาผลผลิตที่ตกต่ำซึ่งไม่ใช่กลุ่มชุมนุมมืออาชีพ หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง จนถึงขณะนี้ ทางรัฐบาลยังยื้อเวลาไปแบบวันต่อวัน ถือว่าไม่มีความบริสุทธิ์ใจในการแก้ไขปัญหา ทุกครั้งที่เกิดปัญหาทางภาคใต้ทุกครั้งรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือ ทำเหมือนกับคนภาคใต้ไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาล การกระทำแบบนี้รัฐบาลเหมือนจับเอาคนใต้มาเป็นตัวประกัน เพราะต้องการเอาชนะทางการเมือง หากทำเช่นนั้นก็เหมือนกับทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยสิ้นเชิง
นายกฤษฎ์ กล่าวต่อว่า การที่ชาวสวนของทางภาคใต้มาประท้วงเพียงเพื่อต้องการกดดันให้ทางรัฐบาลลงมาแก้ไขเท่านั้น และหากยังเล่นการเมืองกันอยู่ เชื่อปัญหาจะบานปลายจากความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ก็อาจจะขยายวงกว้างเป็น 14 จังหวัดภาคใต้ก็เป็นได้ ถ้ารัฐบาลยังบริหารประเทศเช่นนี้อยู่
ส่วนการที่ชาวชุมพรยังไม่ยอมปิดถนนเหมือนจังหวัดอื่นๆ นั้นก็เพราะมีเหตุผล คือ ไม่ต้องการสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วงเวลานี้ผลผลิตทางด้านการเกษตร คือ ผลไม้ เงาะ มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง กำลังออกสู่ตลาดทั้งในประเทศ และส่งออกนอกประเทศ ถ้าเกษตรกรชาวสวนปิดถนนในพื้นที่ จ.ชุมพร ก็เหมือนกับเป็นการทำลายซ้ำเติมเกษตรกรด้วยกันเอง บรรดาแกนนำจึงไม่มีมติที่จะยังไม่ออกไปปิดถนนในช่วงนี้แต่อย่างใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลที่จะมีความจริงหรือไม่ เพราะการปิดถนนก็คือ ทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลหันมาสนใจ และแก้ไข ก็จะขอปักหลักประท้วงอยู่ที่หน้าศาลกลางจังหวัดไปจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องต่อไป
ด้าน นายนพพร อุสิทธิ์ ส.อบจ.ชุมพร หนึ่งในแกนนำผู้ร่วมชุมนุมเปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวลือว่าผู้ชุมนุมจะมีการปิดถนนในพื้นที่ จ.ชุมพร นั้นไม่เป็นความจริง ถ้ามีก็จะเป็นการกระทำของบางกลุ่มที่ตัดสินใจโดยไม่ผ่านมติของผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น โดยเกษตรกรผู้เดือดร้อนจะปักหลักชุมนุมต่อที่หน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อรอฟังมติของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมันของ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เดินทางไปเจรจากับตัวแทนรัฐบาลว่าจะออกมาในทิศทางใด หากคำตอบของรัฐบาลไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ต้องหารือแกนนำ และขอมติผู้ร่วมชุมนุมว่าจะยกระดับการชุมนุมกันอย่างไรต่อไป แต่ขอยืนยันว่าผู้ชุมนุมไม่ยอมรับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการลดต้นทุน และชดเชยให้ไร่ละ 1,260 บาท แต่ชาวสวนต้องการให้รัฐบาลประกันราคาตามข้อเรียกร้องที่ยื่นไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 เท่านั้น
สำหรับบรรยากาศในที่ชุมนุมวันนี้เป็นวันที่ 3 แล้ว ตลอดทั้งวันยังมีเกษตรกรชาวสวนหมุนเวียนเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 700-1,000 คน โดยบนเวทีก็ยังมีบรรดาแกนนำสับเปลี่ยนขึ้นไฮปาร์กอยู่ตลอดเวลา ด้านของการรักษาความปลอดภัย นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 3 กองร้อย หรือจำนวน 450 นาย และ อส.จำนวน 60 นาย มาประจำคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ตามจุดต่างๆ บริเวณรอบๆ ศาลากลางจังหวัด