กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านป่าดงมูลในเขตอำเภอหนองกุงศรี และอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหยุดสัมปทานบ่อก๊าซ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เหตุสร้างมลพิษทางอากาศทำลายชุมชน หลังเปิดเวทีเจรจาหลายรอบแต่ไร้ผล
วันนี้ (3 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์รายงานว่า ที่บ้านนาคำน้อย อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมอนุกรรมการฯ เข้ารับฟังการร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนชาวบ้านดงมูล ตามหนังสือร้องทุกข์ของพระครูสถิตธรรมาภิราม เจ้าอาวาสวัดป่าทรายมูล ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน เพื่อขอให้บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ยกเลิกการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมและวางท่อก๊าซธรรมชาติ
ภายหลังจากลงพื้นที่ ได้นำตัวแทนชาวบ้าน รวมถึงผู้นำชุมชน นายอำเภอหนองกุงศรี และนายอำเภอห้วยเม็ก ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักงานพลังงานจังหวัด และผู้มีส่วนรับผิดชอบเข้าร่วมชี้แจง
โดยมี นายกิตติพงศ์ ใสสะอาด นักธรณีวิทยา และตัวแทนของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุม 4/1 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ มี นายอุดม สมรส รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานรับฟัง
การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายชี้แจงในทุกด้าน โดยคำถามได้เน้นไปที่สิทธิของประชาชนและผลประโยชน์ของคนในชุมชน และทราบว่าในเรื่องการเข้าสำรวจได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2546 โดยบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้รับสัมปทานอนุญาตจากกระทรวงพลังงานจำนวน 4 บ่อ โดยปัจจุบันได้ขุดเจาะบ่อก๊าซธรรมชาติไปแล้วจำนวน 1 บ่อ บริเวณบ้านนาคำน้อย อำเภอหนองกุงศรี
ชาวบ้านอ้างว่า ตั้งแต่การสำรวจและเปิดหลุมได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน กระทบต่อความเป็นอยู่ ป่าไม้ในพื้นที่ถูกทำลาย รวมถึงเกิดความแตกแยกภายในชุมชน และบริษัทผู้รับสัมปทานก็ไม่เคยนำปัญหาของชาวบ้านไปพิจารณาแก้ไข ประกอบด้วยปัญหาความเสียหายจากการสูบก๊าซ ซึ่งได้ทำให้ไร่นา พืชสวนของประชาชนเสียหาย
รวมถึงการเช่าพื้นที่ดิน หากมีการวางท่อแล้วที่ดินของชาวบ้านก็จะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อีกได้ แต่ในขณะที่ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า
นายวีรชัย เบญจมาศ ตัวแทนชาวบ้านคำใหญ่ อำเภอหนองกุงศรี ระบุว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่การสำรวจ เนื่องจากทางผู้สำรวจไม่เคยเจาะลึกถึงรายละเอียด โดยเฉพาะในการทำประชาพิจารณ์ แต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน ซึ่งการประชุมนั้นจัดมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งก็จัดขึ้นโดยชาวบ้านร่วมกับวัดป่าทรายมูล ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เพราะผู้แทนบริษัท อพิโก้ รวมถึงข้าราชการในพื้นที่ไม่สามารถตอบข้อซักถามได้
ต่างคนต่างโยนปัญหากันไป ปัจจุบันได้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อว่าในอนาคตจะกระทบต่อความเป็นอยู่ วิถีชุมชน จึงต้องการให้ยกเลิกแปลงสัมปทานปิโตรเลียมทันที
ด้าน นายกิตติพงศ์ ใสสะอาด นักธรณีวิทยา บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด กล่าวว่า การทำงานทุกอย่างไม่มีผลกระทบและสามารถตรวจสอบได้ และนับจากเกิดปัญหาก็ได้หยุดดำเนินการสูบก๊าซไปแล้ว ซึ่งใน 3 หลุมที่เหลือก็ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจผลกระทบและรับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานเท่านั้น
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่กาฬสินธุ์เป็นปัญหาที่คล้ายกันในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือหรือทางภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องท่อก๊าซ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชน
จากการรับฟังทำให้เข้าใจได้หลายปัญหา และเรื่องทั้งหมดจะถูกนำไปเสนอยัง รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบให้ดำเนินการพิจารณาตามข้อเรียกร้องของประชาชน เพราะการออกสัมปทานในพื้นที่จะต้องเกิดจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างเป็นสุข